ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีวิชาการสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ​​

0
428

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับมูลนิธิเกาหลีเชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เปิดเวทีสัมมนาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2562  ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ  ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย  ผลการสัมมนาที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลเกาหลีส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีเข้าสู่การศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่เปิดสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุภาษาเกาหลีเป็นหนึ่งในภาษาต่างประเทศของระบบสอบเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา​โดยภายในงาน มีการเปิดเวทีสัมมนาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยกับชาวเกาหลีในด้านประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา  โดยมี ฯพณฯ ลี อุค-ฮอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเปิด ศ.ดร.ปริศวร์  ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน  และปาฐกถาพิเศษโดยนายนิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เกาหลีใต้​สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองประธาน

กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เกาหลีใต้ , การประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้สอนภาษาเกาหลี และกลุ่มคณาจารย์ผู้สอนสังคมศึกษา  การเสวนาทางวิชาการเรื่อง การเปลี่ยนแปลงและอนาคตของสังคมการเมืองเกาหลี 2019 , เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีสไตล์กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยววิถีไทย , การบรรยายทางวิชาการ ได้แก่ บทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนกับการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ , บทวิเคราะห์และประเด็นความสนใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ในสื่อไทย , แนวโน้มนโยบายและลักษณะพิเศษของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย , นักศึกษาต่างชาติทางรอดของมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ , อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเชื่อและค่านิยมของชาวเกาหลี , การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : สภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษากับปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย, การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : วรรณคดีเกาหลี , การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเกาหลีใต้ในปัจจุบัน , เกาหลีใต้กับการพัฒนาประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลี เป็นต้น

​ฯพณฯ ลี อุค-ฮอน  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย  กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2529 มหาวิทยาลัย

สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับอุดมศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และยังเป็นสถาบันผู้บุกเบิก สนับสนุนให้จัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทยในหลายๆ มิติทำให้การจัดการเรียนภาษาเกาหลีในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นวิชาเอกจำนวน 12 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นวิชาโท จำนวน 6 แห่ง และมีนักเรียนมัธยมศึกษาที่เรียนภาษาเกาหลีในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 40,000 คน  ซึ่งเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนนักเรียนชาวต่างชาติทั้งหมดที่เรียนภาษาเกาหลีทั่วโลก  สำหรับผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษานั้นการสอนภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรมต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่มีความยากลำบาก แต่เนื้อหาดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้คนทั้งสองประเทศเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้จึงให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยให้ได้มีโอกาสเรียนภาษาเกาหลี  กอปรกับกระทรวงศึกษาธิการได้มีการบรรจุภาษาเกาหลีให้เป็นหนึ่งในภาษาต่างประเทศของระบบสอบ PAT ซึ่งผลดังกล่าวเกิดจากการร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองประเทศ

ภาพ/ข่าว ปชส.มอ.ปัตตานี