มหัศจรรย์ทะเลน้ำจืด ต้นกำเนิดวิถีชีวิตทุ่งยางแดงแข่งเรือบาแตสืบสานมรดกท้องถิ่น (ชมคลิป)

0
2167

มหัศจรรย์ทะเลน้ำจืด ต้นกำเนิดวิถีชีวิตทุ่งยางแดง แข่งเรือบาแตสืบสานมรดกท้องถิ่น

 

“มหัศจรรย์ทะเลน้ำจืด” ที่บริเวณพรุบ้านน้ำดำ ต.ตะโล๊ะแมะนา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นพื้นที่พรุแห้งแล้งติดพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี  อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส  และ อ.รามัน จ.ยะลา และเป็นแปลงปลูกแตงโมของชาวทุ่งยางแดงในเนื้อที่เกือบ 1 หมื่นไร่ แต่เนื่องจากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาของทุกปี ได้เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำจำนวนมากที่ท่วมจาก อ.ทุ่งยางแดง อำเภอใกล้เคียง และจาก อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อ.รามัน จ.ยะลา และบนเทือกเขาต่าง ๆ ที่ล้อมรอบ ทำให้น้ำได้ไหลหลากลงมายังพรุแห่งนี้

จากที่ที่เป็นพื้นดินพื้นที่การเกษตรและเลี้ยงสัตว์  กลายเป็นพื้นที่ที่รับน้ำจาก 3 อำเภอ 3 จังหวัดจนเป็นทะเลสาบขนาดกว้างใหญ่ ซึ่งชาวบ้านถือว่า เป็นความมหัศจรรย์ที่พระเจ้ามอบให้ เพราะทะเลสาบแห่งนี้จะเป็นพื้นที่รวมใจของพี่น้องประชาชนได้มาร่วมจัดกิจกรรมร่วมสนุกกันจนเกิดความสามัคคี และช่วงเกิดเป็นทะเลสาบก็จะมีปลาน้ำจืดจำนวนมากให้ชาวบ้านได้จับหารายได้ โดยเฉพาะนำไปเป็นปลาส้มที่มีชื่อของ อ.ทุ่งยางแดง และกว่าน้ำจะแห้งกลับเข้าสู่ภาวะปกติใช้เวลาร่วม 2-3 เดือน เมื่อน้ำแห้งก็จะเป็นถนนให้ประชาชนผ่านไปมาและเป็นแปลงปลูกแตงโมงขนาดใหญ่ของ อ.ทุ่งยางแดง อีกครั้ง

การจัดกิจกรรม “มหัศจรรย์ทะเลน้ำจืด” ครั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบอุทกภัยได้เกิดความผ่อนคลายจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามถึงแม้ในระยะสั้น แต่ก็ทำให้เกิดกิจกรรมสร้างความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดความสามัคคีของแต่ละชุมชน อันส่งผลให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามฤดูกาลในพื้นที่ต่อไป

โดยมี นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เป็นประธานเปิดงาน และมี นายอับดุลการีม ยีดำ นายอำเภอทุ่งยางแดง และประชาชนทั้งในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 5 พันคน มาร่วมกันอย่างคึกคัก โดยมีกิจกรรมการแข่งขันมวยทะเล การแข่งขันเรือยาว เรือท้องแบน การแข่งขันว่ายน้ำ การแข่งขันว่ายดำน้ำระยะไกล โดยเฉพาะการแข่งเรือบาแต นั้นหมายถึงเรือไม้ที่ใช้ขุดเอาเนื้อไม้ส่วนกลางออกเพื่อมาทำเป็นเรือ โดยไม่มีการต่อไม้จากส่วนอื่นมาเพิ่มแต่อย่างใด ปัจจุบันมีน้อยมาก เพราะปัจจุบันจะมีการนำเรือยาง เรือพลาสติกมาใช้แทนเรือไม้เนื่องจากปัจจุบันไม้หาได้ยากขึ้น

นายอับดุลการีม ยีดำ นายอำเภอทุ่งยางแดงกล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอทุ่งยางแดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปรับตัว ปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติเนื่องจากสภาวะธรรมชาติที่แปรปรวน มีความแห้งแล้ง มี วาตภัย และอุทกภัย รุนแรงและยาวนาน เป็นสภาพธรรมชาติที่หลีกหนีไม่ได้ แต่ภายใต้ข้อคิดที่ว่าทำอย่างไร ที่เราจะอยู่กับสภาพน้ำท่วมขังได้อย่างมีความสุขหรืออย่างน้อยก็มีความทุกข์น้อยที่สุดจึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น  และเพื่อให้พี่น้องชาวทุ่งยางแดงมีความรักและหวงแหนพรุน้ำดำ ที่เป็นต้นกำเนิดวิถีชีวิตของคนทุ่งยางแดงตลอดไปอีกด้วย

ทีมข่าว @ชายแดนใต้ จ.ปัตตานี