วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส จุดประกายแนวคิดจัดตั้ง “นราธิวาสจีโอพาร์ค” นำร่อง 5 อำเภอ พาแกนนำดูงานที่สตูล เน้นจุดขายในพื้นที่สู่ระดับโลก

0
391

วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส จุดประกายแนวคิดจัดตั้ง “นราธิวาสจีโอพาร์ค” นำร่อง 5 อำเภอ พาแกนนำดูงานที่สตูล เน้นจุดขายในพื้นที่สู่ระดับโลก

นายยุทธนา พรหมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส พร้อมด้วยนายอำเภอ 5 อำเภอ ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่นายปรีชา นวลน้อย รายอำเภอสุไหงโก-ลก นายอำเภอแว้ง นายอำเภอสุคิริน ตัวแทน อ.ระแงะ อ.ตากใบ นายยก อบต.แว้ง ท่องเที่ยวและกีฬา วัฒนธรรมจังหวัด ผู้ใหญ่บ้าน  เดินทางศึกษาดูงานเพื่อนำแนวคิดจากการจัดตั้ง “สตูลจีโอพาร์ค” ในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้าและอำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อนำแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณี มาปรับใช้เพื่อจัดตั้งอุทยานธรณี จังหวัดนราธิวาส

ซึ่งการจัดตั้งอุทยานธรณี จังหวัดนราธิวาส จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน การรวมตัวกันของคนในชุมชนในการจัดการบริหารทรัพยากรในพื้นที่ การรองรับนักท่องเที่ยวอันจะเป็นรายได้หลักให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสได้เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งเป็นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามหลักธรณีวิทยา สังคมวิทยาและมนุษยวิทยา อีกด้วย

โดยเบื้องต้นวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้กำหนดอำเภอที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานธรณี ใน 5 อำเภอ คือ อำเภอสุคีริน อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ และอำเภอแว้ง โดยจะมีการศึกษาและกำหนดแนวความคิด พร้อมทั้งแผนการปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน “นราธิวาสจีโอพาร์ค” นำเสนอผู้บริหารระดับจังหวัด เพื่อเป็นนโยบายของจังหวัดนราธิวาส ต่อไปในอนาคต

นายยุทธนา พรหมมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากทาง จ.สตูลได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกและจากการได้ศึกษาวิธีการของอุทยานธรณีของ จ.สตูลแล้วมีแนวทางหลายเรื่องและมีทรัพยากรหลายแห่งที่น่าสนใจ ซึ่งจังหวัดนราธิวาสจะได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนของจังหวัดนราธิวาสได้ ซึ่งทางวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส จึงได้จัดให้มีการศึกษาดูงานของหัวหน้าส่วนราชการต่างๆเพื่อที่จะได้เข้ามารับรู้ถึงแนวทางของการจัดการชุมชนให้เกิดการพัฒนาและเกิดการใช้บูรณาการของทรัพยากรที่มีอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ได้ใช้องค์ความรู้ต่างๆที่มีอยู่ได้บูรณาการร่วมกันให้เป็นอุทยานธรณีของจังหวัดนราธิวาสเพื่อจัดทำแผนแม่บทของการจัดตั้งอุทยานธรณีของจังหวัดนราธิวาสในอนาคต

“จากการศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นโดยกรมทรัพยากรธรณีพบว่า ทรัพยากรด้านธรณีวิทยาในจังหวัดนราธิวาส ที่สำคัญในขณะนี้มี 5 อำเภอ หลักๆ คือ อ.สุคิริน อ.แว้ง อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ และ อ.ระแงะ ที่มีทรัพยากรมีความสำคัญด้านธรณีวิทยาอยู่ โดยจะทำการกำหนดพื้นที่อุทยานธรณีวิทยาได้มากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะมีผลที่เชื่อมโยงกับอำเภออื่นๆด้วยก็อาจจะขยายพื้นที่ออกไป แต่ในเบื้องต้นนี้จะกำหนดเพียง 5 อำเภอก่อนเพื่อไม่ให้กว้างจนเกิดไปเพื่อความสำเร็จของโครงการนี้”

ด้านนายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก ในฐานะหัวหน้าทีม เปิดเผยว่า การมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ครั้งแรกเองก็ยังไม่เข้าใจว่าสตูลธรณีปาร์คคืออะไร ที่ทำให้องค์การยูนิสโกระดับโลกต้องประกาศเป็นธรณีโลก แต่หลังจากได้ศึกษาดูงานอย่างละเอียดแล้วพบว่าทางสตูลธรณีปาร์คได้ดำเนินการมากว่า 10 ปี ซึ่งในประเด็นแรกเกิดจากวัตถุดิบในเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นฟอสซิ้ลต่างๆและยังมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและร่วมกันคิดพร้อมดึงนักวิชาการและภาคีภาคส่วนมาร่วมกันบริหารจัดการจนสามารถที่จะสร้างความเข้มแข็งได้

“สำหรับในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส นั้น จะกลับไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องว่า 1.ต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนนราธิวาสได้รู้ว่าก่อนว่า พื้นแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ของจังหวัดนราธิวาสเรามีอะไรบ้างที่เป็นของดีๆ หลังจากนั้นจะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสอบถามระดมความคิดว่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อนำมาบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมและเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อจะได้โยงเครือข่ายดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาชม และการที่จะจัดการบริหารได้หรือไม่นั้นอยู่ที่คน อยู่ที่ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนและชุมชนจะต้องเป็นผู้คิดและริเริ้มและภาควิชาการ ภารราชการจะเข้ามาดูแลสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ ซึ่งจังหวัดนราธิวาสมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นของดี

เช่น พื้นที่ อ.สุคิริน เรามีเหมืองทอง มีสายแร่ทองที่มีอายุหลายหมื่นปี เรามีนกเงือกที่มีมากถึง 13 ชนิด ในป่าบาลาฮาลา ในพื้นที่ อ.แว้ง ส่วนพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลกเรามีการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างประเทศเป็นเมืองสามเหลียมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่นยืนที่สามารถจำนำคนเข้ามาท่องเที่ยวได้ ส่วนพื้นที่ อ.ตากใบก็มีวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทยที่มีชื่อเสียงอีกแผ่นหนึ่งที่คนรู้จักและเป็นตำนานที่เล่ากันมายาวนานในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้ามีการจัดระบบและเชื่อยมโยมกัน โดยมีชุมชนมาบริหารจัดการให้ดี คิดว่าการจัดตั้งเป็นจีโอปาร์คธรณีโลกของจังหวัดนราธิวาส คงจะอยู่ไกลไม่เกินฝัน ซึ่งอยู่ที่ทุกคนต้องมาช่วยกันสร้างและพัฒนาการท่องเที่ยว สงเสริมและกระจายรายได้และสืบสานอนุรักษ์มรดกที่มีอยู่ในจังหวัดให้ทุกคนได้รู้จักในวงกว้าง ”

ภาพ/ข่าว แวดาโอะ หะไร บก.@ชายแดนใต้ จ.นราธิวาส