เรื่องจริงน้ะออเจ้า หลวงศรียศ พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)

0
1213

เรื่องเล่าจากคนขายหนังสือ 

  เรื่องจริงน้ะออเจ้า  หลวงศรียศ พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ซึ่งจัดแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพิ่งจะเสร็จสิ้นลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา  งานหนังสือครั้งนี้เป็นเครื่องชี้วัดกระแสของการตื่นตัวอยากศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “ออเจ้า” จากหนังสือและละครทีวีเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ของนักอ่านในทุกระดับ เป็นเหตุให้หนังสือบุพเพสันนิวาสและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) สมเด็จพระเพทราชา คอนสแตนติน ฟอลคอน (ออกญาวิชาเยนทร์)  ลาลูแบร์ เฉกอะหมัด ฯลฯ ขายกันแทบจะหมดแผง ผมได้ยินนักอ่านสาวสองท่านคุยกันเรื่องหนังสือ “รุกสยาม ในพระนามของพระเจ้า” ของสำนักพิมพ์มติชนว่า ‘เพื่อนเขามีกันหมดแล้ว เราก็ต้องมีเหมือนกัน’ ว่าแล้วก็ควักเงินเกือบครึ่งพันจ่ายราคาหนังสือ ลองมาทายกันดูสิว่าจะมีหนังสือและละครเรื่องไหนในอนาคตที่จะสามารถปลุกกระแสนิยมประวัติศาสตร์ให้คนสนใจอ่านหนังสือแบบนี้ได้อีก

ละครเรื่องนี้มีตัวแสดงท่านหนึ่งที่ผู้ชมให้ความสนใจ นั่นคือ “หลวงศรียศ” ซึ่งรับบทโดย ‘วิทววิท วงษ์วรรณลภย์’ ที่ทำให้คนอยากรู้ว่า ในประวัติศาสตร์หลวงศรียศ ที่ดูท่าทางสง่างามสมเป็นชายชาติบุรุษนี้คือใคร ? บทความ “เกร็ดประวัติสกุลบางตอน เฉกอะหมัด” จากหนังสือ ‘อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายประหยัด เอี่ยมศิลา ท.ม.,ต.ช.’ มีบ้นทึกไว้ดังนี้ “ในราวปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ (2136-2144) มีแขกอาหรับพ่อค้าสองคนพี่น้อง พี่ชื่อเฉกอะหมัด น้องชื่อมะหะหมัดสะอิดพาบริวารซึ่งเป็นพวกเจ้าเซ็นนิกายเดียวกับตนเข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ที่ตำบลท่ากายี ใกล้พระนครศรีอยุธยา…..ต่อมาท่านมะหะหมัดสะอิดผู้น้องชะรอยจะคิดถึงบ้านเกิดเมืองบิดามารดาและชะรอยจะเป็นผู้ที่ไม่ชอบทิ้งถิ่นเดิม จึงกลับออกไปสู่ประเทศอาหรับ และไม่ได้กลับเข้ามาในเมืองไทยอีกเลย”

ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งท่านเฉกอะหมัดเป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี  ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางมหาดไทย ขณะที่ท่านอายุ 87 ปี และท่านถึงอสัญกรรมหลังจากดำรงตำแหน่งนี้ได้เพียงหนึ่งปี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีซึ่งลูกหลานในสายสกุลของท่านในลำดับต่อๆ มาทั้งมุสลิมและพุทธได้ร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย

หลวงศรียศ พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 2 ถัดจากท่านเฉกอะหมัด ความเป็นมาในเรื่องนี้มีบันทึกในหนังสือเล่มเดียวกัน “ท่านมะหะหมัดสะอิดน้องเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ซึ่งกลับออกไปบ้านเมืองเดิมนั้น ได้มีบุตรขึ้นคนหนึ่งเป็นชาย ชื่ออากามะหะหมัด เมื่อท่านมะหะหมัดสะอิดใกล้จะถึงแก่กรรม ท่านได้เล่าให้บุตรฟังว่ามีลุงและญาติอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ครั้นท่านมะหะหมัดสะอิดถึงแก่กรรมแล้ว ท่านอากามะหะหมัดผู้บุตรจึงเข้ามาเมืองไทย และอยู่กับเจ้าพระยาอภัยราชาผู้เป็นพี่  (ลูกเฉกอะหมัด) เจ้าพระยาอภัยราชาได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายณ์ขอพระราชทานท่านชีน้องสาว ซึ่งเจ้าพระยาบวรราชนายกบิดาได้ถวายเป็นพระสนมในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง และไม่มีพระองค์เจ้า สมเด็จพระนารายณ์ก็พระราชทานท่านชีแก่พระยาอภัยราชา เมื่อรับท่านชีออกมาอยู่บ้านแล้วเจ้าพระยาอภัยราชาได้ยกท่านชีให้เป็นภรรยาท่านอากามะหะหมัด” ความสัมพันธ์ตรงจุดนี้จึงเป็นการสมรสระหว่างลูกผู้พี่ผู้น้อง คือท่านอากามะหะหมัดบุตรท่านมะหะหมัดสะอิดเป็นลูกผู้น้องและท่านชีธิดาท่านเฉกอะหมัดเป็นลูกผู้พี่

ด้วยความที่ท่านอากามะหะหมัดมีความสนิทสนมชอบพอรักใคร่กันมากกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดเกล้าให้ท่านอากามะหะหมัดเป็นพระยาศรีนวรัตน์ ท่านชีธิดาเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) มีบุตรกับพระยาศรีนวรัตน์ (อากามะหะหมัด) สองคน คนแรกเป็นชายชื่อยี  อีกคนก็เป็นชายชื่อแก้ว บิดาถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กทั้งคู่ เมื่อท่านยีมีอายุได้ 22 ปี และท่านแก้วมีอายุได้ 20 ปี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงแต่งตั้งท่านยีเป็นพระอนุรักษ์ราชา และท่านแก้วเป็นหลวงศรียศ และต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา นับเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีลำดับที่สองต่อจากท่านเฉกอะหมัด

เมื่อตรวจสอบจากแผนภูมิแสดงการสืบสกุลของ ‘วงศ์เฉกอะหมัด’ ในหนังสือ “สกุลบุนนาค” จัดพิมพ์โดยชมรมสายสกุลบุนนาค เมื่อปี 2542 ก็พบว่าน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่มีข้อมูลระบุถึงภรรยาและผู้สืบสกุลของพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) พระยาจุฬาราชมนตรีลำดับที่สอง แต่อย่างใดทั้งสิ้น สำหรับตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีและจุฬาราชมนตรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ มีผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 18 ท่าน แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ลำดับที่ 1-13 จากสำนักคิดชีอะห์อิสนาอะชะรี และลำดับที่ 14-18 จนถึงปัจจุบัน จากสำนักคิดสุนนี

บทความ โดย สมาน อู่งามสิน