เมดอินสงขลา งานชิคของจริง ฟื้นความทรงจำบนถนนนางงาม

0
785

“เมดอินสงขลา” (Made in Songkhla) อีเวนต์สนุกๆ ความเก่าผสมผสานกับสิ่งใหม่ได้อย่างลงตัว และทุกอย่าง “ทำที่สงขลา” พาทุกคนลัดเลาะย่านเมืองเก่า เดินผ่านร้านค้าดั้งเดิม 12 ร้าน ร้านเจ้าแรก ร้านต้นตำรับ ร้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รับโฉมใหม่ทั้งอาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่ม สมุนไพรไทยจีนสูตรลับฉบับสงขลา ทักษะงานปักบนถนนนางงาม ถนนสุดชิคในเมืองสงขลา
ในวันที่ 18 – 19 ธ.ค. 64 จังหวัดสงขลามีงานเปิดตัว “เมดอินสงขลา” (Made in Songkhla) รวมอาหาร ขนม เครื่องดื่ม งานปัก ไปจนถึงสิ่งพิมพ์ ซึมซับบรรยากาศและสถาปัตยกรรมสุดวินเทจแบบใกล้ชิด ร้านในตำนานถูกแปลงโฉมให้โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และทันสมัยยิ่งขึ้น


ความพิเศษคือความร่วมมือจาก 9 นักออกแบบรุ่นใหม่ ทั้งดีไซเนอร์จากท้องถิ่นและจากส่วนกลาง ให้ทุกคนสัมผัสกับเมนูใหม่ๆ และเปิดประสบการณ์ซื้อขายสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์ ชื่นชมบรรจุภัณฑ์หรือหน้าร้านอันแปลกตา ที่ถูกผสมผสานด้วยไอเดียสร้างสรรค์ กลายเป็นผลผลิตใหม่ฉบับเมดอินสงขลาแท้ๆ ร่วมรับรู้และเข้าใจเรื่องราวของร้านต่างๆ ในย่านนี้อย่างลึกซึ้งกว่าเดิม
งานเมดอินสงขลายังมีกิจกรรมสุดพิเศษอื่นๆ รอต้อนรับทุกคนอีกด้วย ได้แก่ นิทรรศการขนาดเล็กและงานฉายสารคดีสั้นเกี่ยวกับเมดอินสงขลา จัดโดย a.e.y.space รับรู้ความเป็นมาเป็นไปของงานและจุดกำเนิดของงานสร้างสรรค์ที่ล้วนทำที่สงขลา พร้อมกับแผนที่สำหรับเดินท่องงาน Family Talk วงสนทนาขนาดเล็กที่ชวนทุกคนมาฟังเบื้องหลังการพัฒนาต้นแบบ รวมถึงความท้าทายจากร้านค้าและนักออกแบบอย่างใกล้ชิด Friends of Made in Songkhla ร้านรุ่นใหม่จากสงขลา หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ ที่จะมาร่วมรังสรรค์เมนูใหม่อร่อยๆ เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม (18 ธันวาคม 2564 – 18 มกราคม 2565) อีเวนต์ชิลๆ ช่วงเย็น พร้อมวงดนตรีและการแสดง ที่จะพาทุกคนยืดเส้นยืดสายและอิ่มท้องอิ่มใจ แบบครบอรรถรส
หยิบ จับ ปรับ ผสมของทั้ง 12 คู่ผลงานสร้างสรรค์
เมดอินสงขลา (Made in Songkhla) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) และ a.e.y.space ที่มีจุดประสงค์หลักในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจดั้งเดิม และต่อยอดทักษะงานฝีมือ ธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับลูกค้าในยุคปัจจุบัน เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจในท้องถิ่นเติบโต ปรับตัว และอยู่รอด อีกทั้งยังสามารถดําเนินธุรกิจให้เข้ากับโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน
ผลงานทั้งหมดล้วนเป็นผลผลิตของการลงพื้นที่หลายครั้ง สร้างโจทย์ที่ชัดเจน ก่อนลองผิดลองถูกร่วมกันระหว่างร้านค้าดั้งเดิมทั้ง 12 ร้านและ 9 นักออกแบบ จนได้เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ใช้การออกแบบในการช่วยแก้ปัญหา เพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้จริง ยั่งยืน พร้อมผูกแน่นไปกับความเป็นย่านให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น
สำคัญคือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเพิ่มการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในสงขลาด้วย
ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้รับผิดชอบหลักงานนี้บอกว่า ชักชวนให้ผู้ประกอบการเก่าแก่ในย่านถนนนางงามมาร่วมออกแบบงานนี้ไปด้วยกัน พยายามไม่ใช้พลาสติกให้มากที่สุด ต้องใช้พลังในการพูดคุยอย่างมาก คนจีนสมัยก่อนเขาพึ่งพา ตั้งตัวมาพร้อมๆ กัน ร้านนึงขายอาหาร ร้านนึงขายเครื่องดื่ม เขาใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ร่วมมือกันมา เป็นแบบอย่างที่ดี จะเปลี่ยนแปลงเขายากมาก เช่น ฮับเซ่ง มีสังขยาเป็นพระเอกของเขา ที่กวน 8 ชั่วโมง แต่ขาย 30 บาท อยากเพิ่มมูลค่า ราคา เขาไม่เอา เราบอกว่าเปลี่ยนเป็นการถ่ายรูปได้จากกระดาษที่เราดีไซน์ให้ กลายเป็นของเดิม สังขยา ขนมปัง ใช้แบบเดิมกับวิธีการทำครอฟเฟิล ทำให้ขนมปังมีความกรุบกรอบ เกรียม กัดไปมีรสสัมผัสสังขยา เกิดลายเหมือนช่องลมแบบจีน ทดสอบมาหนึ่งเดือน ให้ร่วมสมัยได้โดยไม่เปลี่ยนตัวตนเขา ในร้านมีเรื่องราว ที่จัดเรียงใหม่ เข้าไปแล้วสัมผัสได้
ชาวบ้านพอใจ หลังจากนี้มีบรรจุภัณฑ์ที่เราออกแบบให้เขาขายไปสักระยะ ออกแบบ ร่วมมือมา หลังจากนี้ก็คือเขาต้องต่อยอด และแนะนำให้เขา วันเปิดงานมีคนมาร่วมกิจกรรมและซื้อของเยอะมาก เพราะต้องการแพกเกจใหม่ในรสชาตเดิม ดีใจที่เป็นจุดเริ่มต้น เขามาขอบคุณ เขารู้แล้วว่าดีไซน์ช่วยได้จริง ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ว่างานออกแบบมีความสำคัญต่อแบรนด์ทุกอย่างมาจากการคิดสร้างสรรค์

การเล่าเรื่องได้สวยภาพลักษณ์ ด้วยวีดีโอ ย้ำกับผู้ประกอบการว่า เรามาลองไปด้วยกันนะ เราไม่รู้ปลายทาง ทำกันให้เต็มที่ เชื่อว่าถ้าวิธีการดี ผลลัพธ์น่าจะดี อยากทำงานกับพลังคนนรุ่นใหม่ในปีหน้า”
เมดอินสงขลารอบเปิดตัวจัดขึ้นวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2564 ที่ย่านเมืองเก่าสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา หลังจากนี้ใครไปทัวร์เมืองเก่า ร่วมอนุรักษ์ร้านค้าดั้งเดิมได้ตลอด
ลองมาพบกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อร้านเหล่านี้จับมือร่วมกับนักออกแบบทั้ง 9 สตูดิโอ 12 ร้านค้าดั้งเดิมในย่านกับเมดอินสงขลา (Made in Songkhla) เปิดขายตามเวลาปกติตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมยืดเวลาขายให้นานขึ้น แนะนำให้มาตั้งแต่ช่วง 10.00 – 16.00 น. จะได้ไม่พลาดทุกเมนู ผลิตภัณฑ์เด็ด และกิจกรรมพิเศษ ถนนนางงาม ของกินอร่อยๆเพียบ มาเริ่มกันที่ร้าน
ขนมไข่ป้ามล ขนมไข่เตาถ่านหอมมาการีน ตำนานสงขลา เนรมิตรถเข็นและถุงขนมโฉมใหม่สไตล์เรโทร สีสันสดใสสะดุดตา ร้านอยู่ตรงถนนพัทลุงมา 30 ปี บ้านจงดี ร้านขนมดั้งเดิม ต้นตำรับขนมทองเอกสีส้มสด สัมปันนีตากด้วยแดดธรรมชาติ ขี้มอดสูตรนุ่มละมุนพิเศษ เพิ่มแพคเกจจิ้งสีละมุน บันหลีเฮง ร้านไอติมยุคบุกเบิกตั้งแต่ปี 2473 จุดเด่นตรงไอติมกะทิ วานิลา ถั่วเขียวทำเอง รับรองความสดใหม่สู่รูปแบบแท่ง ที่กินง่ายและสะดวกขึ้นมาก สุภาภรณ์ ร้านเก่าแก่ที่พร้อมทักษะงานปักอาร์มและตรา รวมไปถึงยศแบบต่างๆ ทำแบบรีดติดเสื้อได้ แต่ละลายถูกใจวัยรุ่น ฮับเซ่ง สภากาแฟยามเช้า มีเมนูสังขยา สูตรไหหลำกวน เคี่ยวกว่าหลายชั่วโมงส่งต่อมากว่า 100 ปี โฉมใหม่กับขนมปังกดลาย กินคู่กับเครื่องดื่มร้อนเย็นได้หมด เกียดฟั่ง ข้าวสตูสุดปังในจังหวัด ซาลาเปาลูกใหญ่เท่าหน้า ไส้แน่น ลูกโตจนเป็นแลนมาร์คยามเช้าของถนนนางงามพร้อมแพคเกจแบบใหม่ละมุนสุด ยินดี ร้านสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบท้องถิ่น ยืนยันคุณภาพผ่านกระบวนการผลิต สินอดุยพันธ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฝากแห่งสงขลาที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศสมัยจอมพล ป. จะมีอายุครบ 100 ปีในอีก 2 ปีข้างหน้า แต้เฮี้ยงอิ้ว ร้านอาหารเก่าแก่สไตล์ไทย-จีนแต้จิ๋ว ศูนย์กลางการปรุงวัตถุดิบและชูรสชาติของย่านที่เปิดมานานกว่า 75 ปี เต้าหู้ยี้เสวย เต้าหู้ยี้หมักแบบวิธีโบราณ เจ้าแรกในสงขลาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปีจนเป็นของดีประจำถนนนางงาม งี่เทียนถ่อง ร้านขายยาสมุนไพรไทยจีนโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่สานต่อโดยเจนเนอเรชันที่ 3 ที่ตั้งต้นให้คนเปิดใจจากการนำเสนอสมุนไพรเป็นอาหาร ทวีทรัพย์ โรงพิมพ์ประจำย่านที่เปิดทำการมากว่า 30 ปี มีช่วงรอยต่อของยุคแอนะล็อคและดิจิทัล
12 ผลิตภัณฑ์โฉมใหม่ นักชิม นักช้อป สามารถติดตามซื้อสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกเน้นทางหน้าร้านเป็นหลัก และสอบถามทางเพจ a.e.y space ซึ่งเป็นช่องทางกลาง

ภาพ ข่าว โดย เลขา เกลี้ยงเกลา