ศอ.บต.ร่วม”ภาคีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เตรียมเปิดเส้นทางเดินรถไฟ​ สุไหงโกลก สู่​ มาเลเซีย​ เพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน​ พัฒนาเศรษฐกิจ/การท่องเที่ยว​ 3​ ประเทศ

0
1258

  วันนี้ 18 เมษายน 2562  ที โรงแรมซีเอส ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธาน การประชุมฟื้นฟูการเดินรถไฟเส้นทางจากสุไหงโกลก – รันเตาปันยัง – ปาเสมัส – ตุมปัต โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า “ประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ” มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมาอย่างยาวนานในทุกมิติความร่วมมือการพัฒนา ประชาชน ของทั้งสองประเทศล้วนไปมาหาสู่กันอย่างญาติมิตรสหาย-ครอบครัวเดียวกัน ในขณะที่บทบาทของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ก็มีความใกล้ชิดและเด่นชัดมากที่สุดในปีปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากคำแถลงผลประชุมร่วมกันระหว่าง พล เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประเทศไทย และ ตุน ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในโอกาสการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง วันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา


โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ให้มีพลวัตครอบคลุมใน ทุกมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อร่วมกันสร้าง “ทศวรรษใหม่แห่งความสัมพันธ์” ให้พร้อมรับมือกับ สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความท้าทายมากขึ้นมุ่งเน้นความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ การแก้ไข ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้และความร่วมมือด้านความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงตามแนว ชายแดน และ ความร่วมมือในกรอบอาเซียนทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์การพัฒนาของไทยและมาเลเซียในฐานะ “ภาคีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ต่อการบริหารจัดการความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและ สร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศ ให้มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง


พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก การผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนุภูมิภาคหลังการประชุมร่วมกันของผู้นำแผนความร่วมมือการ พัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ประเทศ อินโดนีเซีย ต่อมาด้วยการประชุม สุดยอดผู้นำแผน IMT-GT ครั้งที่ 11 ณ ประเทศสิงคโปร์

โดยที่ประชุม ได้ให้ ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซียประเด็น การจัดลำดับความสำคัญโครงการเชื่อมโยงทาง กายภาพในแต่ละแนวระเบียงเศรษฐกิจตามมิติการเชื่อมโยงที่เหมาะสมและเพิ่มแนวระเบียงเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิด การขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามข้อเสนอโครงการที่เสนอต่อผู้นำ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบจากการพัฒนาที่มีดุลยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง และโอกาสการเชื่อมโยงกับการพัฒนาของพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล เช่น การเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกับโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออก (East Coast Rail Line: ECAL) ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีโอกาสเชื่อมโยงการพัฒนาระดับภูมิภาคตามทางสายไหมใหม่ของจีน (Belt and Road Initiative) โดยเปิดแนวระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส-เประ-กลันตัน เป็นยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงใหม่ หรือที่เรียกว่า “Economic Corridor ที่ 6” และการหารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงเขตเสรีทางโทรคมนาคมรองรับการค้าอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแดนเชื่อมโยง ระดับสากล เป็นต้น สำหรับการประชุม ในวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่หลายฝ่ายล้วนต้องการพยายามผลักดัน ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคบางประการทำให้โครงการดังกล่าวติดขัด และไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่งผลเสียต่อความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางของอาเซียนที่แท้จริง” ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสการพัฒนาความร่วมมือที่ผ่านมาประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในพื้นที่และโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น สภาวการณ์การค้าขายและสภาพเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศที่ดีขึ้นตามลำดับ ดังเช่นอัตราตัวเลขการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านกว่าบาทไทยหากมีการเปิดเส้นทางดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีมาก ยิ่งขึ้นไป รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่เส้นทางการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่กันของพี่น้องไทยและมาเลเซียในแถบ ตะวันออกซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และทางตะวันออกของประเทศไทยได้จำนวนมหาศาลที่จะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และ เศรษฐกิจที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังหมายรวมไปถึงการผลักดันพื้นที่ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนาให้เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อรองรับการขยายตัวของมุสลิมทั่วโลกในปี ค.ศ. 2020 โดยคาดว่าจะมีมากถึง 2.2 พันล้านคน ในโอกาสนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ความร่วมมือในเรื่องหนึ่งจะสามารถขยายผลไปยังความร่วมมืออีกหลายๆ เรื่อง เพื่อมุ่งเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน การสร้างสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของทั้ง 2 ประเทศสืบไป


อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง เช่น ศอ.บต. การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในส่วนของราชการ-เอกชน-ประชาชน พิจารณาแล้วเห็นสมควรนำประเด็นการเปิดบริการเส้นทางรถไฟเดิมจากสถานีสุไหงโก-ลก (จังหวัดนราธิวาส) ถึง สถานีรถไฟปาเสมัส ประเทศมาเลเซียหยิบยกขึ้นหารือร่วมกันทั้งในระดับจังหวัด การรถไฟของทั้งสองประเทศ และระดับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาในอีกหลายมิติเชื่อมโยงกันในอนาคตตามที่กล่าวถึง ขณะเดียวกันหากความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พร้อมจะนำข้อมูลสรุปกราบเรียนนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการรถไฟเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเทศไทยกำหนดเส้นทางหาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ โดยเพิ่มเส้นทางกลันตัน-สุไหงโกลก-หาดใหญ่ เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ซึ่งจะต้องมีการหารือให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมโดยเร็วและจะได้มีการมอบหมายจัดตั้งกลไกความร่วมมือการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป