ย้อนรอย”เบี้ยภาษาไทย” อดีต​ ณ.สโตย

0
742

ย้อนรอย”เบี้ยภาษาไทย” อดีต​ ณ.สโตย

เรื่องโดย​ ศมานนท์​ พฤกษ์พิเนต นักปวศ.สตูล

ข้าราชการเมืองสตูลตั้งแต่ก่อตั้งเมืองมาจนถึงสมัยพระยาภูมินารถภักดี* แทบทั้งหมดไม่รู้ภาษาไทย ความไม่รู้ภาษาไทยนี้เป็นถึงระดับ”พูดไทยไม่ได้”

เพราะข้าราชการส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู แม้จะเป็นผู้ที่เกิดในแผ่นดินสยาม ก็ยัง”ไม่รู้”ภาษาไทย เพราะเกิดมาท่ามกลางสังคมที่พูด-อ่าน-เขียน เป็นภาษามลายู

จึงต้องมีล่ามมลายูไว้ทำหน้าที่แปลไทยเป็นมลายู และแปลมลายูเป็นไทย เพื่อสื่อสารกับทางมณฑลฯและทางกรุงเทพฯ. ล่ามคนหนึ่งที่ชาวสตูลคุ้นเคยดีคือหลวงวิธานบัญชา(น้าว ณ นคร) บุตรชายของพระวิเศษสงคราม(นุ่ม ณ นคร)** หลานปู่ของพระยาเสนานุชิต(นุช ณ นคร) เจ้าเมืองตะกั่วป่า ต้นสกุล “ณ นคร”สายที่นับถือศาสนาอิสลามในสตูล

ภายหลังรัฐบาลสยามมี”เบี้ยภาษาไทย”ให้แก่ข้าราชการเชื้อสายมลายูที่พูดไทยได้. ในทางปฏิบัติ การขอเบี้ยภาษาไทยนั้น แค่มี”บอก”ของเจ้าเมืองสตูลส่งไปยังสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ภูเก็ตก็จะรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย มหาดไทยก็จะมีคำสั่งอนุมัติ”เบี้ยภาษาไทย”เพิ่มให้

ต่อมาภายหลังกระทรวงเคร่งครัดในเรื่องนี้ กำหนดให้ผู้ที่จะขอเบี้ยภาษาไทย ต้องผ่านการสอบไล่จากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน

หลวงวิไสยศุภศิลป์ เป็นบุตรชายของ ร.ต.ต.ขุนพลบริรักษ์ (กูอับดุลลาห์ )-น้องชายคนเล็กสุดของพระยาภูมินารถภักดี กับภรรยาคนแรก ท่านมีชื่อมลายูว่า กูอุสมาน รับราชการเป็นปลัดเมืองสตูล จังหวัดสตูลยามนั้นจึงมีปลัดจังหวัดสองท่าน***

ท่านหนึ่งมีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพ พูด-อ่าน-เขียน ภาษาไทยและภาษามลายูได้อย่างคล่องแคล่วเชี่ยวชาญ จึงทำให้หลวงวิไสยศุภศิลป์ต้องขวนขวายฝึกพูด-อ่าน-ไทยให้ได้ แล้วจึงยื่นขอเพิ่ม”เบี้ยภาษาไทย”

พระยาอินทรวิไชย (บรรดาศักดิ์ขณะนั้นของพระยาภูมินารถภักดี) จึงตั้งกรรมการสอบไล่ ประกอบด้วย
1.หลวงประสานสรรพเหตุ ผู้พิพากษาศาลเมืองสตูล
2.หลวงธนาทรพินิศ ผู้ช่วยราชการเมือง
3.ขุนอาจอำรุงการ ยกกระบัตรเมือง
4.พระโกชาอิศหาก. ปลัดเมือง
5.นายจวน ผู้พิพากษารอง

การสอบนั้นวัดกันแค่”พูดได้” ก็ถือว่าสอบผ่าน สามารถรับพระราชทาน “เบี้ยภาษาไทย”ได้เลย ดังความในร่างตราข้างล่างนี้

“ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็จ แจ้งความมายังพระยาอินทรวิไชย ผู้ว่าราชการเมืองสตูล

ด้วยได้รับใบบอกที่ ๑๔๘/๖๓๕ ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ว่า ท่านได้ตั้งกรรมการสอบไล่การพูดภาษาไทย เห็นว่าหลวงวิไสยศุภศิลป์ปลัดเมืองพูดภาษาไทยได้ แลหนังสือไทยก็อ่านเขียนได้บ้าง สมควรให้หลวงวิไสยศุภศิลป์รับเบี้ยภาษาไทยได้นั้น ทราบแล้ว อนุญาตให้จ่ายได้ตามอัตรา “

___________________________________
* สมัยรักษาการแทน 2439-2443
สมัยปกครอง2443-2459
** ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง พระวิเศษสงคราม(นุ่ม)มีราชทินนามว่า “พระวิเศษฤทธิสงคราม (นุ่ม)
***คือพระโกชาอิศหาก (ตุ๋ย) ชาวกรุงเทพ (ธนบุรี) กับหลวงวิไสยศุภศิลป์ (กูอุสมาน)