ธ.ก.ส. ยะลา ขับเคลื่อน มาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ

0
595

นายพัชราวุธ แสงวันลอย ผู้อำนวยสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ นั้น สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ได้เห็นชอบมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ ประกอบด้วย โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. โดยลดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร

 

ลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
นายพัชราวุธ ยังเปิดเผยว่า สำหรับในส่วนของ ธ.ก.ส. จังหวัดยะลา มีเป้าหมายเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 19,990 ราย ซึ่งจะต้องมีมาตรการขับเคลื่อน คือ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. โครงการนี้จะช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีหนี้เงินกู้อยู่กับธนาคาร ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ให้ได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาเดิมเป็นระยะเวลา1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 โดยจะลดดอกเบี้ยให้เฉพาะต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ในอัตราร้อยละ2.5 ต่อปี ธนาคารรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้าในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี ส่วนต้นเงินกู้ที่เกินกว่า300,000 บาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราปกติและโครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. โครงการนี้จะขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้าทุกรายที่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า โดยขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่มีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561ของทุกสัญญาและทุกวงเงินกู้ที่เป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31กรกฎาคม 2564 สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้คงให้ชำระตามกำหนดเดิม


นายพัชราวุธ แสงวันลอย ผู้อำนวยสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดยะลา ยังเปิดเผยอีกว่า ทั้งสองโครงการนี้ จัดขึ้นก็เพื่อให้เกษตรกรบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้า ผ่อนคลายภาระหนี้สิน เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการผ่อนชำระหนี้ และมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการปรับเปลี่ยนการผลิต สร้างโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ ส่งผลโดยตรงต่อการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร รวมทั้งเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ภาพ/ข่าว มูกะตา หะไร @ชายแดนใต้ จ.ยะลา