วิทยาลัยเทคนิคยะลา จัดงาน การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมภาคใต้ชายแดน

0
378

วิทยาลัยเทคนิคยะลา จัดงาน การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมภาคใต้ชายแดน61


วันที่ 20 กันยายน 2561 ที่วิทยาลัยเทคนิคยะลา พลเอก สุรเชรษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงาน การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมภาคใต้ชายแดน ประจำปีงบประมาณ 2561 เริ่มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2561 โดยมีนายวรเชษฐ์ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ดร.สุเทพ ชิตวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ศึกษาธิการภาค 8 รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน สังกัดอาชีวศึกษาภาคใต้ สถานประกอบการ และสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมด้วย


พลเอก สุรเชรษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การดำเนินงานในครั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุน การขับเคลื่อนผลงานสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ให้สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการ กับสถานศึกษาและเจรจาซื้อขายผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำจากสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์วัตกรรมอาชีวศึกษาให้สามารถต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ นับเป็นหัวใจหลักในการจัดงานดังกล่าวนี้ เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยนำพาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนสืบไป ยินดีและชื่นชมการจัดงานในครั้งนี้ ที่แสดงถึงความร่วมมือ ร่วมรง ร่วมใจ ของคณะกรรมการดำเนินการทุกฝ่ายที่ได้จัดงานนี้ขึ้นเป็นอย่างดียิ่ง

นับเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และมีค่ายิ่ง ในการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมที่มีคุณค่าสู่เชิงพาณิชย์และการต่อยอดทางธุรกิจ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดียิ่งและต่อเนื่อง ร่วมสร้างเครือข่ายประชารัฐที่เข้มแข็ง ผ่านกระบวนการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดังประกฎในงานดังกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจน


สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย จัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และ นวัตกรรมอาชีวศึกษาภาคใต้ชายแดน, จัดนิทรรศการศูนย์ประสานงานการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคใต้, จัดนิทรรศการ “Open House”, จัดแสดงผลงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พร้อมทั้งมีการชี้แจงนโยบายสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา มีการเจรจาความร่วมมือจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมภาคใต้ชายแดน ส่วนการจับคู่ธุรกิจและมอบนโยบาย “แนวทางการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อความยั่งยืน” มีสถานประกอบเข้าร่วม 30 แห่ง สถานศึกษาเข้าร่วม 15 แห่ง จำนวนผลงานที่จัดแสดง 67 ผลงาน มีการจับคู่ธุรกิจ จำนวน 30 คู่ ผลงานซื้อขาย จำนวน 11 ผลงาน มูค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 500,000 บาท

ภาพ/ข่าว มูกะตา หะไร ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ.ยะลา