บทความเรื่องเล่าจากคนขายหนังสือ เรียบเรียงโดย สมาน อู่งามสิน

   นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 8 ฉบับที่ 7: พฤษภาคม 2530 เสนอบทความชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนานระหว่างสถาบันกษัตริย์กับมุสลิมในประเทศไทย เรื่อง “ประวัติสกุลมุสลิม ‘สุนนี’ กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลในราชวงศ์จักรี” รวบรวมโดยเกษม ท้วมประถม, สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุงและประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ทั้งสามท่านซึ่งประกอบด้วยมุสลิม 2 ท่าน และพุทธศาสนิกชน 1 ท่าน ล้วนสืบสายธารมาจากสายสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แห่งหัวเขาแดง

ซึ่งเราต้องย้อนอุโมงประวัติศาสตร์กลับไปสำรวจเหตุการณ์ ความเป็นมาและเป็นไปเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนจากบันทึกตอนหนึ่งของบทความข้างต้น “ในปลายสมัยแผ่นดินพระเอกาทศรถ ท่านสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ซึ่งเป็นบุตรของท่านโมกุล เชื้อสายอาหรับซึ่งตั้งตัวเป็นสุลต่านแห่งเมืองสุลัย ในชวาภาคกลาง ใกล้กับกรุงโยกยาการตา ได้เกิดพิพาทกับพวกเดินเรือโปรตุเกส ซึ่งเข้าไปบังคับซื้อสินค้าพื้นเมืองตามเมืองต่างๆในชวา และได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ท่านสุลัยมานพ่ายแพ้ จึงพาครอบครัวและบริวารหลบหนี แล่นเรือเข้าสู่อ่าวไทยเมื่อราวพ.ศ. 2145 และได้มาขึ้นบกที่แถบอำเภอสทิงพระ (เขตจังหวัดสงขลาปัจจุบัน) จัดตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณนั้นซึ่งเคยเป็นเมืองพัทลุงเก่าอยู่ก่อน”

สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง หนึ่งในสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แห่งหัวเขาแดง บรรยายเหคุการณ์ช่วงนี้จากมุขปาฐะที่ได้เล่าต่อๆ กันมาในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ ตระกูล สุลต่าน สุลัยมาน’ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2530 ไว้ได้ดั่งฉากภาพยนตร์การรบทางทะเลสมัยโบราณ “ขณะที่ท่านสุลัยมานมีอายุได้ 10 ขวบเศษ ครอบครัวของท่านที่เมืองสาเลห์ได้ทำการต่อสู้กับข้าศึกศัตรู โดยฝ่ายศัตรูได้ใช้ปืนใหญ่และธนูไฟระดมยิงทำลายและเผาผลาญบ้านเมืองจนพินาศวอดวาย ครอบครัวของท่านสุลัยมานที่มีท่านดะโต๊ะ โมกอล ผู้บิดาเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยบริวารจำนวนหนึ่งจึงได้พากันหนีตายออกจากเมืองสาเลห์มาอย่างกระเซอะกระเซิง ในท่ามกลางความ
ฉุกละหุกเช่นนี้เอง เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองได้ถูกเผาผลาญจนพินาศวอดวายไปแล้ว ประกอบกับคาดว่า ศัตรูซึ่งเป็นฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นอาจย้อนกลับมาอีก หากยังอยู่ในเมืองสาเลห์ต่อไป ดังนั้น ดะโต๊ะ โมกอล จึงได้นำลูก เมียและญาติพี่น้องที่รอดตายเท่าที่ตามตัวพบ พร้อมด้วยบริวารผู้ร่วมชะตากรรมอีกจำนวนหนึ่ง ก็พากันอพยพลงเรือสำเภาเป็นจำนวนหลายลำ ละทิ้งบ้านเมืองหลบลี้หนีภัยออกนอกประเทศทางทะเลจีนใต้ แล่นใบหลบหลีกศัตรูออกจากเกาะชวา มุ่งหน้าตัดสู่ทิศเหนือไปตามทิศทางของลมมรสุมด้วยความชำนิชำนาญในการเดินเรือ ซึ่งฝึกกันมาหลายชั่วคน ภายหลังจากแล่นเรือฝ่าคลื่นลมรอนแรมมาเป็นเวลาหลายทิวาและราตรี (ประมาณ 20 วันถ้าลมมรสุมดี หรือ ราว 30 วันถ้าลมมรสุมไม่ค่อยดี เพราะเป็นระยะทางพอๆ กับจากกวางตุ้งมายังไชยา) ในที่สุดขบวนเรือสำเภาของท่านดะโต๊ะ โมกอล และบริวารก็มาถึงหัวเขาแดง ปากทางเข้าทะเลสาบเมืองสิงขราหรือ สิงขรานัครัม อันเป็นทำเลที่เหมาะสมสำหรับพักพิงลี้ภัยและหลบพายุได้เป็นอย่างดี จึงได้นำขบวนเรือของครอบครัวและญาติพี่น้องพร้อมด้วยบริวาร ที่รอนแรมผจญภัยมาเป็นเวลานานวัน เข้าจอดแวะพักและยกพลขึ้นบก ณ ชายหาดหัวเขาแดง ใกล้เมืองสทิงพระ (เมืองสะตรึงเพรียะเก่า) เมื่อราวพ.ศ. 2148 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2153) ทำเอาชาวบ้านแถบนั้นแตกตื่นตกใจ เพราะเห็นคนโพกหัวขึ้นบกจากเรือสำเภาหลายลำ เลยนึกว่าเป็นพวกโจรสลัดยกกำลังมาปล้นสะดมอีก เพราะแถบทางสิงขราและสทิงพระเคยถูกพวกโจรสลัดยกกำลังทางเรือมาปล้นเป็นคราวๆ ซึ่งโดยมากพวกโจรสลัดเหล่านี้ได้แสดงความดุร้ายเหี้ยมโหดอย่างผิดมนุษย์มนา กล่าวคือนอกจากจะปล้นสะดมเอาทรัพย์สินมีค่าต่างๆ แล้ว ยังเข่นฆ่าผู้ที่ทำการขัดขืน, แม้กระทั่งเด็กๆ, กระทำชำเราสตรี แล้วยังกวาดต้อนผู้คนเอาไปเป็นเชลย เพื่อเอาไว้ใช้งานเป็นแรงงานทาสอีกด้วย”

ภาพวาดสุลต่าน สุมัยมาน ชาร์ (เคยติดอยู่ที่กุโบร์ภาพจินตนาการ)

เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ทศวรรษในระยะแรกของการตั้งชุมชนที่หัวเขาแดง ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก  แต่หลังจากพ.ศ. 2163 กรุงศรีอยุธยายอมรับความเป็นเจ้าเมืองพัทลุงของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ซึ่งมีอำนาจปกครองกว้างขวางตลอดฝั่งทะเลสองด้าน อ่าวไทยและอันดามัน ด้านใต้จรดเขตปัตตานีและไทรบุรี ด้านเหนือติดต่อกับเขตเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาในพ.ศ. 2185 เมื่อพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าให้ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) ชาวญี่ปุ่น มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สุลต่านสุลัยมาน ชาห์ จึงประกาศแข็งเมืองสืบเนื่องจากความไม่พอใจการปราบดาภิเษกของพระเจ้าปราสาททองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและมาผสมโรงกับการอวดอำนาจของยามาดาที่แสดงความไม่พอใจสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ที่ยกกองทัพเรือจากเมืองพัทลุงไปปราบโจรสลัดมลายูที่มาปล้นเมืองไชยาได้อย่างราบคาบ ซึ่งในขณะนั้นยามาดาในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมิได้มีส่วนร่วมแม้แต่นิดเดียว ทำให้ยามาดาเสียหน้าเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลเดียวกันกับเมืองพัทลุง พระนางบิรุรานี นางพญาแห่งเมืองปัตตานีได้ประกาศแข็งเมืองตั้งแต่พ.ศ. 2173 และอีกสองปีต่อมา พ.ศ. 2175 เมืองนครศรีธรรมราชก็เจริญรอยตาม กรุงศรีอยุธยาได้มีคำสั่งให้หัวเมืองภาคใต้ร่วมกันยกกองทัพมาโจมตีสุลต่านสุลัยมาน 2 ครั้ง คือพ.ศ.  2191 และ พ.ศ. 2198 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป พ.ศ. 2211 สุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ถึงแก่อสัญกรรมหลังจากครองเมืองพัทลุงมายาวนานถึง 46 ปี พ.ศ. 2223 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงสามารถยึดเมืองพัทลุงได้สำเร็จโดยสุลต่านมุสตาฟา บุตรชายคนโตของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเกล้าให้ครอบครัวทั้งหมดของสุลต่านมุสตาฟาเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ยกเว้นสุลต่านมุสตาฟาท่านเดียว  ทรงโปรดเกล้าให้ไปเป็น “พระยาไชยา”  และนี่คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับลูกหลานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ที่จะก่อเกิดความเกี่ยวดองกันทางเครือญาติในอนาคต

ลูกหลานของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญหลายท่านและได้สร้างเกียรติประวัติไว้หลายครั้ง อย่างน้อยมีสองเหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึง  กรณีแรกคือเรื่องของ ‘ฮัซซัน’ บุตรชายคนเล็กของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ น้องชายสุลต่านมุสตาฟาได้รับแต่งตั้งเป็น ‘พระยาราชบังสัน’ แม่ทัพเรือในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่เคยมีในกรุงศรีอยุธยามาก่อน  หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต พระเพทราชาขึ้นเสวยราชย์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระยารามเดโชซึ่งเป็นมุสลิมและมีความสัมพันธ์สนิทสนมช่วยเหลือเกี้อกูลกันมากับลูกหลานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ไม่ยอมสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเพทราชาแห่งราชวงศ์พลูหลวงจึงโปรดให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นแม่ทัพหลวงยกกำลังทางบกไปปราบและให้พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เป็นแม่ทัพเรือไปล้อมเมืองนครศรีธรรมราช แต่พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน)  เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบากของอาณาประชาราษฎร์ทั้งสองฝ่ายที่ต้องมาบาดเจ็บล้มตายและตรากตรำกับสภาพสงครามเป็นเวลานานหลายเดือน หรือถ้าจะพูดภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เลือกที่จะใช้ ‘สันติวิธี’ ในการจัดการปัญหาแทนการใช้ความรุนแรงอย่างที่เป็นประเพณีปฏิบัติกันในการสงครามสมัยโบราณ  ท่านจึงตัดสินใจช่วยให้พระยารามเดโชหลบหนีไปได้ด้วยการจัดหาเรือให้ แลกกับการที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาสามารถเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่นิดเดียว

ในวันนั้น จะมีสักกี่คนที่เข้าใจเจตนาอันพิศุทธิ์ของพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ที่ต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียและสร้างความสงบสุข อย่างไรก็ตาม พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ก็รู้เป็นอย่างดีว่าชะตากรรมของท่านจะเป็นอย่างไรตามพระราชประเพณี เป็นการเสียสละชีวิตตนเองด้วยความเต็มใจเพื่อความผาสุกของไพร่ฟ้าประชาชี ซึ่งผลที่ตามมาก็ไม่ผิดคาด สมเด็จพระเพทราชาทรงกริ้วมาก จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช และศพของพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ถูกนำมาฝังเคียงข้างศพสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ผู้เป็นบิดาที่หัวเขาแดง

สมาน อู่งามสิน