147 ปี ชาตกาล พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตอนที่ 4 เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎร

0
1302

โดย ภัทรพร สมันตรัฐ

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ได้นำแนวทางการพัฒนาอาชีพราษฎรของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตมาเป็นแบบอย่าง และใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรในจังหวัดสตูล ทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม โดยส่งเสริมการปลูกกาแฟ พริกไทย เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปยังสิงคโปร์และเมืองปีนังประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยมและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ราษฎรที่เป็นเกษตรกร โดยส่งออกทางเรือสินค้า ซึ่งแล่นผ่านทางท่าเรือที่อำเภอทุ่งหว้า ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่เจริญมากเมื่อครั้งอดีต

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลา มีการแจกพันธุ์สัตว์ให้เลี้ยงเพื่อบริโภคในครอบครัว และประกอบอาชีพส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร เปิดตลาดนัดตามตำบลต่างๆเพื่อให้ประชาชนนำสินค้าผลผลิตมาจำหน่ายเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น รวมทั้งหาวิธีให้ประชาชนมีโอกาส และได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพอย่างสุจริตและห่างไกลอบายมุข

จากบันทึกประวัติย่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ.ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทางจังหวัดสตูลรวบรวมโดยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (สมาชิกวุฒิสภาปัจจุบัน) ซึ่งในเวลานั้นเป็นข้าหลวงจังหวัดสตูล ได้ระบุรายละเอียดที่น่าสนใจว่า

“เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2455 กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายข้าพเจ้า ซึ่งในเวลานั้นเป็นนายอำเภอเบตง มารับราชการในตำแหน่งปลัดจังหวัดสตูล เมื่อข้าพเจ้าได้ไปวางตรากระทรวงมหาดไทยที่มณฑลภูเก็ตแล้ว พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้นำตรามณฑลบรรจุข้าพเจ้าในตำแหน่งปลัดจังหวัดสตูล ข้าพเจ้าได้นำตรามณฑลมารับมอบหน้าที่ปลัดจังหวัดสตูลจากพระโยธีพิทักษ์ ปลัดจังหวัดสตูลในเวลานั้น เมื่อได้มอบหมายกันเสร็จแล้วพระโยธีพิทักษฺ์ไปรับราชการเป็นข้าหลวงจังหวัดตะกั่วป่า ในเวลานั้นราชการต่างๆในจังหวัดสตูล ข้าพเจ้าได้พิจารณากิจการทั้งหลายโดยใกล้ชิด หวังจะมิให้มีเหตุการณ์ใดๆต้องหมาดหมางแตกแยกความสามัคคีในระหว่างข้าราชการด้วยกันทุกหน่วยทุกกอง ให้รักและถนอมน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเกรงว่าข้าราชการกับชาวพื้นเมือง จะเกิดเข้าใจผิดกันขึ้นได้ แต่เดชะบุญไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น

เมิ่อข้าพเจ้าได้ดูกิจการต่างๆที่จังหวัดและอำเภอเรียบร้อยแล้ว ได้เริ่มออกท้องที่ต่างๆทั่วทุกอำเภอและตำบลที่สำคัญๆทั้งทางบกและทางทะเล ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ได้ทราบภาวะของจังหวัดและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนพลเมือง ตลอดทั้งการอาชีพทั้งทางน้ำและทางบก เมื่อข้าพเจ้าได้ตรวจดูสภาพของบ้านเมือง และหนทางที่จะแก้ไขให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองและประชาชน ข้าพเจ้าจึงได้ทำรายงานกิจราชการที่เห็นสมควรจะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย เพื่อให้ได้เงินภาษีอากรได้จ่ายให้พอเพียงที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้รุ่งเรืองก้าวหน้า และเพื่อเปิดประโยชน์ให้ราษฎรพลเมืองได้มีโอกาสทำการค้าขายหารายได้มาสู่ครอบครัว เพราะพิเคราะห์ดู ราษฎรอยู่ในความฝืดเคือง เพราะเหตุว่าในเวลานั้นมีภาษีอากรผูกขาดเสียหมด ราษฎรไม่มีโอกาส เจ้าภาษีผูกขาดเหล่านี้บังคับซื้อบังคับขายตามสิทธิ์ที่เขาได้รับ ส่วนความหายนะอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อบ้านเมืองคือบ่อนเบี้ย มีอยู่ตลอดทั่วทุกตำบล น่าสงสารพลเมืองต้องมาหลงงมงายอยู่ที่บ่อนนั้น ไม่เป็นอันทำมาหากิน

ข้อความที่ข้าพเจ้าเสนอไปยังสมุหเทศาภิบาลมณฑล ขอให้สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิจารณายกเลิกภาษีอากรผูกขาดทั้งหมดเมื่อสิ้นอายุสัญญาแล้ว และบรรดาภาษีอากรเหล่านี้ ให้เรียกเก็บเป็นภาษีขาเข้าขาออกตามกฎหมายศุลกากร ส่วนบ่อนเบี้ยนั้นให้ยกเลิกเช่นกัน และไม่ให้มีต่อไป แต่เพื่อที่จะให้ประชาชนมีโอกาสเล่นการพนันได้บ้างตามเทศกาลเช่นไพ่เป็นต้น ก็ให้มาขออนุญาตที่อำเภอ

สมุหเทศาภิบาลเห็นชอบด้วย ให้จังหวัดสตูลดำเนินงานตามที่ขอ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางจังหวัดสตูลก็ได้เตรียมการขอเจ้าหน้าที่ฝ่ายศุลกากรและสรรพากร ส่วนพนักงานป่าไม้คนเดิมมีอยู่แล้ว แต่ได้ขอให้เจ้าพนักงานฝ่ายป่าไม้สำหรับมณฑล ส่งเจ้าพนักงานป่าไม้มาประจำการตามสมควร…..”

การบำรุงการเพาะปลูก
ในจังหวัดสตูลเวลานั้น บ้านเมืองตามชนบทเต็มไปด้วยป่ารกและทุ่งหญ้า เพราะเหตุว่าพลเมืองถูกบีบบังคับเรื่องภาษีอากรผูกขาดดังได้กล่าวมาแล้วแต่เบื้องต้น ข้อสำคัญการบ่อนเบี้ยมีทั่วไปทุกๆแห่ง เป็นเหตุให้ราษฎรเสียความประพฤติมัวเมาแต่การสูบฝิ่นและการพนัน. ฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้มีโจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วไป แต่ได้อาศัยศาสนาอิสลามซึ่งมีครูบาอาจารย์ตามหมู่บ้านและตามสุเหร่า ได้คอยว่ากล่าวสั่งสอนกันอยู่ตามชนบทเหล่านั้น

ส่วนศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆนั้นนับว่าน้อยเต็มที มีสำนักสงฆ์ของพระพุทธศาสนาในเวลานั้น 3 แห่งคือ
1.ตำบลในเมือง
2.ตำบลฉลุง
3.อำเภอทุ่งหว้า*
สำนักสงฆ์เหล่านั้นมีพระสงฆ์ประจำอยู่น้อยเต็มที มีอยู่แห่งละองค์สององค์ แต่สำนักสงฆ์ในเมืองและตำบลฉลุงนั้น ต้องอาศัยนิมนต์พระทางจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราชบ้าง มาสมทบ จึงครบองค์กระทำอุโบสถสังฆกรรม

โดยเหตุนี้เจ้าคุณรัษฎานุประดิษฐ์จึงได้คิดให้ราษฎรทุกครัวเรือนปลูกผลอาสินไม้ล้มลุกและยืนต้น เช่นปลูกข่า ตะไคร้ พริก มะเขือ มะละกอ มะพร้าว และเลี้ยงไก่ครัวเรือนละ 5 แม่ ให้ทางราชการของจังหวัดถือเป็นเรื่องสำคัญส่วนหนึ่งของการปกครอง ถ้าจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านใดมีการละเมิดไม่สนใจแนะนำราษฎรให้กระทำการสวนครัวให้เต็มที่ดังได้กล่าวมาแล้ว ก็จะถือว่าบรรดาหัวหน้าผู้ปกครองท้องถิ่นเหล่านั้น ละเมิดต่อหน้าที่อันสำคัญที่ควรพึงกระทำ โดยเหตุนี้ บรรดาผู้ปกครองหัวเมืองและท้องถิ่นจึงได้เอาธุระทั่วถึงกันแข็งแรง

ในต่อไปนี้ ก็จะรู้สึกได้ว่าราษฎรได้มีกินมีใช้และขายเป็ดขายไก่ตามตลาดนัดทั้งหลายได้ทั่วไป เป็นเหตุให้ได้แก้ไขความทุกข์ร้อนของราษฎรๆมีเงินสดไปจับจ่ายใช้ในครัวเรือนได้เหมาะสมกับฐานะกำลังและแรงที่ลงไป การแก้เศรษฐกิจเบื้องต้นของเจ้าคุณรัษฎานุประดิษฐ์ดังได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุให้ราษฎรได้รู้สึกถึงผลที่ตนได้ประกอบขึ้นทันตาเห็น

นับตั้งแต่นั้นมา บรรดาจังหวัดในภาคใต้ก็ได้เริ่มต้นสนใจต่อการเพาะปลูก เพิ่มพูนโภคทรัพย์ให้กับท้องถิ่นของตนดังได้กล่าวมาแล้ว เรื่องนี้ราษฎรทุกคนยังคิดถึงบุญคุณของท่าน**ไม่รู้ลืม..”

เชิงอรรถ
* 1.วัดที่ตำบลในเมืองหมายถึงวัดมำบังหรือวัดชนาธิปเฉลิม
2.วัดที่ตำบลฉลุงหมายถึงวัดดุลยาราม
3.วัดที่อำเภอทุ่งหว้า หมายถึงวัดอาทรรังสฤษดิ์ ปีแรกๆที่พระยาสมันตรัฐบุรินทร์มาเป็นปลัดจังหวัดนั้น อำเภอละงูมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอสุไหงอุเป หรืออำเภอทุ่งหว้า
**หมายถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตขณะนั้น