147 ปี ชาตกาล   พระยาสมันตรัฐบุรินทร์

0
3857

     จากบันทึกโดย คุณภัทรพร สมันตรัฐ เป็นบุตรสาวคนโตของนายเติมศักดิ์ สมันตรัฐ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ปัตตานี, ตรัง และชุมพร กับท่านผู้หญิงลดาวัลย์ สมันตรัฐ ข้าราชการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นหลานปู่ของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์   ทายาทรุ่นหลานของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ได้กรุณามอบบทความเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่าน ซึ่งเธอเป็นผู้เขียนด้วยตนเอง จะนำเสนอ 5 ตอนดังนี้

ตอนที่ 1 ประวัติชีวิตและครอบครัว

ตอนที่ 2 บิดาแห่งการประถมศึกษาเมืองสตูล

ตอนที่ 3 ผลงานด้านการคมนาคม

ตอนที่ 4 เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎร

ตอนที่ 5 นักปกครองดีเด่นในรอบ 100 ปี ของกระทรวงมหาดไทย

    ประวัติพระยาสมันตรัฐบุรินทร์  ตอนที่ 1  ประวัติชีวิตและครอบครัว

ต้นตระกูลของอำมาตย์เอก พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ( ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ ) เป็นพ่อค้าจากเมืองไทรบุรี ชื่อหวันมูซา ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่กรุงธนบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สมรสกับนางเนียมลูกสาวชาวจีน มีบุตรธิดารวม 6 คน บุตรชายคนหนึ่งชื่อนายเกิด เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกชาอิศหาก ( เกิด ) ปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษามาลายูที่กรมท่าขวา  ซึ่งกรมท่าในสมัยนั้น มีหน้าที่ดูแลติดต่อกับชาวต่างชาติ แบ่งออกเป็นสองกองงานคือ

กรมท่าซ้าย ดูแลชาวจีนและเรือที่มาติดต่อค้าขาย ผู้กำกับดูแลกรมท่าซ้าย จะได้ยศถาบรรดาศักดิ์เป็นพระ หรือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ที่ตั้งสำนักงานจะอยู่แถวๆราชวงศ์

ส่วนกรมท่าขวา มีหน้าที่ดูแลเรือที่มาจากมาลายู ผู้กำกับดูแลกรมท่าขวาจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวง หรือพระโกชาอิศหาก มักเป็นมุสลิมเชื้อสายมาลายู นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ตรวจตราเครื่องราชบรรณาการ ตามโบราณประเพณีที่หัวเมืองมาลายูนำเข้ามาถวายต่อพระเจ้ากรุงสยาม ได้แก่เมืองปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ภายหลังมีเมืองกูบังปาสู ปะลิส และสตูล เนื่องจากถูกแยกออกจากเมืองไทรบุรี

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์มีชื่อเดิมว่า ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ นามสกุล “บินอับดุลลาห์”ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2458 ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น” สมันตรัฐ”ในสมัยรัชกาลที่8 ท่านมีชื่อ  มุสลิมว่า หวันฮูเซ็น เป็นบุตรคนที่12 ของหลวงโกชาอิศหาก( เกิด ) กับนางเลี๊ยบ ซึ่งมีเชื้อสายจีน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2414 ที่ตำบลบางลำพูล่าง อ.คลองสาน จ.ธนบุรี

เนื่องจากบิดามีความสัมพันธ์กับหัวเมืองมาลายูมาช้านาน จึงมีความสนิทสนมกับสุลต่านเมืองต่างๆเป็นอย่างดี เมื่อท่านมีอายุ 8 ขวบ เจ้าเมืองปะลิสได้ขอตัวท่านไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม ทำให้ท่านมีโอกาสเรียนรู้ซึมซับขนบธรรมเนียมประเพณี ระเบียบพิธีปฏิบัติต่างๆ ตลอดจนภาษามาลายูกลางเป็นอย่างดี จนกระทั่งอายุ 14 ปี บิดารับกลับมาบ้านเกิด และนำท่านไปฝากเจ้าอาวาสวัดบางลำพูล่างหรือวัดเศวตฉัตรซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ให้เข้าเรียนรู้ภาษาไทย ในสมัยนั้นหลักสูตรชั้นประถมศึกษา กำหนดให้เรียน 3 ปี ท่านสามารถเรียนภาษาไทยได้อย่างแตกฉาน อ่านคล่องเขียนคล่อง

ในขณะเดียวกัน ท่านได้รับการอบรมหลักการของศาสนาอิสลามจากครอบครัว ประกอบกับมีพื้นฐานภาษามาลายูกลาง และมีโอกาสติดตามบิดาไปตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเคยพำนักอยู่ที่เมืองปะลิสเมื่อเยาว์วัย ทำให้ท่านมีความรอบรู้เรื่องหัวเมืองมาลายู และภาษามาลายูกลางเป็นอย่างดี ประกอบกับบิดามีความประสงค์และสนับสนุนให้ท่านรับราชการ ในปี พ.ศ.2432 เมื่อท่านมีอายุ18ปี จึงเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง ล่ามมาลายู สังกัดกลาโหม และรับแต่งตั้งเป็นล่ามภาษามาลายูในกองข้าหลวงมณฑลปัตตานี ประจำหัวเมืองภาคใต้ ที่อำเภอยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก

ปี พ.ศ.2439. ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนราชบริรักษ์ ล่ามมณฑลปัตตานี. ปี2441ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอเบตง ขึ้นกับเมืองรามัน ในปี 2453 เกิดความวุ่นวายขึ้นโดยโต๊ะแตซึ่งเป็นมือขวาของพระยาวิชิตภักดี (ตนกูอับดุลกาเดร์) ยกกำลังเผาที่ว่าการอำเภอยะลา ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ สร้างความเชื่อถือศรัทธาให้ราษฎรลุ่มหลง ชักชวนไม่ให้เสียภาษี ท่านในฐานะนายอำเภอเบตงสืบสวนจนจับตัวได้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้อีก

ในปี พ.ศ.2455 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดเมืองสตูล และรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระโกชาอิศหาก ซึ่งในขณะนั้นเมืองสตูลมีเจ้าเมืองชื่อTunku Din Bin Kumeh. หรือพระยาภูมินารถภักดี ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองเกษียณอายุราชการ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลแทนในปี2457 และ พ.ศ.2459 โปรดเกล้าฯ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ” พระยาสมันตรัฐบุรินทร์”

พ.ศ.2472 ท่านเกษียณอายุราชการ แต่กระทรวงมหาดไทยได้ต่ออายุราชการให้ท่านจนถึงปี พ.ศ.2475 หลังจากนั้น แม้ว่าไม่ได้รับราชการแล้ว ท่านก็ยังคงใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการยาวนานถึง 18 ปี โดยหันไปทำงานการเมืองระดับชาติ พ.ศ.2476. ท่านได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดสตูลเมื่ออายุ 62 ปี พ.ศ.2478 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2480 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2491 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ท่านถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ท่ามกลางลูกหลาน ณ.บ้านเลขที่ 113 ถนนสตูลธานี อ.เมือง จ.สตูล ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2506 เมื่ออายุ 92 ปี ร่างของท่านฝังที่สุสานบากัรบาตา ในซอย17 ถนนสตูลธานี ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล   ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ. ท.ช ภปร.2

ชีวิตครอบครัว ท่านมีภรรยา 4 คน และมีบุตร 8 คนดังนี้

1.คุณล้อม มีบุตร 2 คนคือ

1.1 นางพิน (ไม่ทราบประวัติ)

1.2 นางเผื่อน สมรสกับนายหล่า กำเนิดงาม มีบุตร2 คนคือ

1.2.1 นายอวบ กำเนิดงาม

1.2.2 นางอารี สมรสกับนายแฉ่ง มีบุตร4 คนคือ นางปราณี นางประนอม นายฉัตรชัย และ น.ส.นวลศรี

2.คุณหญิงพร ไม่มีบุตร

3.คุณแหมะยู มีบุตรหนึ่งคนชื่อ นางอิ่ม สมรสกับนายการีม สมันตรัฐ (เครือญาติ) ไม่มีบุตร

4.คุณแช่ม มีบุตร 5 คนคือ

4.1นางเพิ่มสุข สมรสกับนายเติมพันธ์ ณ.นคร มีบุตรสองคนคือ

4.1.1 น.ส.พนิตตา สมรสกับนายเรืองพล สุนทรารชุน น้องชายของนายสรเดช สุนทรารชุน อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลผู้ล่วงลับ

4.1.2. น.ส.ตติยา ณ.นคร ( โสด )

4.2 นายเติมศักดิ์ สมันตรัฐ สมรสกับท่านผู้หญิงลดาวัลย์ สมันตรัฐ มีบุตรสามคนคือ

4.2.1 น.ส.ภัทรพร สมันตรัฐ ( โสด )

4.2.2 น.ส.บุศรินทร์ สมรสกับ พ.อ.ตะวัน อุมะวิชนี

4.2.3 นายวรยุทธ สมันตรัฐ

4.3 น.ส.เสริมศรี สมันตรัฐ (โสด)

4.4 นายเสรี สมันตรัฐ สมรสกับ น.ส.ดวงฤดี กำเนิดงาม มีบุตรสองคนคือ นายรติ และ นายปิติ สมันตรัฐ

4.5 นายชัยรัฐ สมันตรัฐ สมรสกับ น.ส.นาตยา นาคพันธ์ มีบุตรคือ นายบุรินทร์ นายอุดมฤทธิ์ และนายนิรุทธ สมันตรัฐ

เนื่องจากท่านรับราชการและใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดสตูลเป็นเวลานาน ระหว่างนั้นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับท่านคนหนึ่งได้ติดตามมาอยู่กับท่านด้วย คือนางภาพ ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้ มีความชำนาญหลายด้าน ทั้งงานค้าขาย งานก่อสร้างถนนหนทาง งานช่างฝีมือ งานเครื่องหอม ได้ประกอบอาชีพกิจการส่วนตัวในจังหวัดสตูล ได้สมรสกับขุนเพทพานิช นักการฑูตชาวมาลายู มีบุตรด้วยกัน 5 คนคือ

1 นายการีม สมันตรัฐ สมรสกับนางอิม ไม่มีบุตร

2 นายสมาน สมันตรัฐ. สมรสกับนางชุ่ม มีบุตร5 คนปัจจุบันอยู่บ้านถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรังเทพฯ

3 นายมิตร สมันตรัฐ สมรสกับนางจิ๊มีบุตร7คน และสมรสกับนางสงวนมีบุตร7คน

4 นางมงคล ( หนู) สมรสกับ สตอ.หวัง ถิ่นสตูล มีบุตร3คน

6 นายสุนทร สมันตรัฐ สมรสกับ น.ส.อุษา มีบุตร 18 คน

ซึ่งบุตรหลานสายนี้ ถือเป็นหลานสนิทของท่าน ที่ประกอบอาชีพรับราชการ ได้ทำงานอยู่ใกล้ชิดท่าน ได้แก่นายการีม( บุตรเขย) มีตำแหน่งเป็นอักษรเลข และที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้ทำงานเพื่อส่วนรวม เช่นนายสมาน นายมิตร และนายสุนทร สมันตรัฐ มีความเสียสละ ขยันหมั่นเพียร และมีความศรัทธาในหลักการศาสนาอิสลามเช่น นายมนตรี (สุหลง) สมันตรัฐ ซึ่งบรรดาหลานๆเหล่านี้ ได้แต่งงานกับชาวสตูล ประกอบธุรกิจ มีบุตรหลานถือกำเนิดขึ้นอีกหลายรุ่น จนมีสมาชิกสกุล “สมันตรัฐ” พักอาศัยและทำงานอยู่ในทุกสาขาอาชีพในจังหวัดสตูลเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏจนถึงทุกวันนี้

อนุเคราะห์โดย ภัทรพร สมันตรัฐ