ปัตตานี-ใหม่ที่แรก!!ดัน “ชราบานโมเดลเฟส 1” แก้ภาวะสมองเสื่อม ครบวงจร

0
529

“ปัตตานี” ประกาศวาระสำคัญ นำร่องการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจรโดยทำ MOU สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมในครอบครัวแบบครบวงจร
จ.ปัตตานีเห็นความสำคัญของป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้มีภาวะสมองเสื่อม โดยการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร จึงประกาศ ขับเคลื่อน “ชราบานโมเดลเฟส 1” ชูประเด็นสำคัญ ยกระดับการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้น ภายใต้เป้าหมาย “สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ จากไปอย่างมีความสุข” เน้นสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุมีกระบวนการคัดกรองอย่างมีคุณภาพ มีคลีนิกผู้สูงอายุคุณภาพ มีชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุโดยมีการดูแลต่อเนื่องแบบองค์รวม


โดยในวันนี้(7 ธ.ค.66) ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีนำทีมทำ MOU เพื่อการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจรจังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการ “ชราบานโมเดล เฟส 1” โดยมี นายแพทย์อนุรักษ์สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้ง แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่ส่วนปกครองท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำความรู้และแผนงานกลับไปปฏิบัติงานจริงในทุกหน่วยงาน
“เรื่องของสมองเสื่อมไม่น่ากลัวถ้าช่วยกัน คือ ชุมชน ครอบครัว ระบบ ร่วมกันดูแล ป้องกัน ชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม ด้วยกระบวนการทำงานที่คิดใหญ่ เริ่มเล็ก ทำเร็ว เพื่อให้งานสามารถขับเคลื่อนได้ ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครอบครัวและชุมชน” นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวสรุปถึงการดูแลในเรื่องนี้
รองผวจ.ปัตตานี กล่าวถึงขั้นตอนการดูแลในเรื่องนี้มี 5 ขั้นตอนคือ การคัดกรอง การวินิจฉัย พัฒนาบุคลากรในรพ.สต. เชื่อมบริการกับภาคีเครือข่าย และพัฒนา จัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุทีมีภาวะสมองเสื่อม
แผนการขับเคลื่อนโครงการฯจ.ปัตตานี 1.กลไกหมอครอบครัว รพ.สต.คลินิกผู้สูงอายุ, รพช.คลินิกผู้สูงอายุ, รพท.คลินิกผู้สูงอายุ และชุมชน ชมรมและโรงเรียนผู้สูงอายุ 2.กลไก 3 หมอ(รพช./รพ.สต./อสม.) เครื่องมือคัดกรองอย่างง่ายตามบริบทพื้นที่ 3.พัฒนาแบบฟอร์มคัดกรอง เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน 4.สร้างระบบการเชื่อมต่อและส่งข้อมูลผู้ป่วยจากรพท.สู่ชุมชน 5.ขับเคลื่อนภายใต้กลไกระดับตำบลและกลไกอสม.และผู้ดูแล
ปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้มีภาวะสมองเสื่อม กลายเป็นปัญหาสุขภาพระดับสากล ที่คนไทยจำนวนมากยังไม่ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับตัวเองและคนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงสูงสุด
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ยืนยันว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมสูงถึง 6.8 แสนคน จากประชากรรวม 66.7 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้มีภาวะสมองเสื่อมทุกคนจำเป็นต้องมีผู้ดูแลทำหน้าที่ดูแลใกล้ชิดทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเพียง 1 คน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของสมาชิกที่เหลือในครอบครัว
แม้ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์จะป้องกันไม่ได้ หากภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดสมองร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD : ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่และภาวะอ้วนลงพุง) สามารถป้องกันและชะลอได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ดี อยู่กับการดูแล ความเข้าใจและทัศนคติของผู้ดูแลและครอบครัว เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง
แต่ในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างการหลงลืมตามวัยกับภาวะสมองเสื่อมได้ จึงทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่เหมาะสมกับอาการ จนทำให้เกิดผลกระทบกับชีวิตในมิติสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจทั้งครอบครัว ชุมชน และสังคม

ทีมข่าวแอดชายแดนใต้ ปัตตานี