ปัตตานี- วาดภาพศิลป์ ปกปักษ์รักถิ่น กับงานSemela Semula

0
242

ตัวแทนกลุ่ม Art & Culture Patani และกลุ่ม Melayu Sketcher ประกอบด้วย ศิลปิน นักวาดภาพอิสระ สถาปนิก นักออกแบบ ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรม ประมูลภาพศิลปะ เพื่ออนุรักษ์บ้านทรงคุณค่าของปัตตานี โดยมีนายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เป็นประธานเปิดพิธี นักธุรกิจเมืองปัตตานี อาจารย์ และประชาชนมาร่วมงานกันคับคั่ง

ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ร่วมวาดภาพ สเกตภาพ แสดงผลงานศิลปะ ตระเวนลงพื้นที่ตามสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี ใช้งานศิลปะเป็นพื้นที่สื่อกลาง ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมเยียนวิถีชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงคุณค่าในศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องราวของอาหารพื้นถิ่น ในชุมชนต่างๆ

ซึ่งในครั้งนี้ทางกลุ่มมีความประสงค์จัดกิจกรรมวาดภาพ เพื่อเป็นการกุศล คือเรือนมลายูเก่าแก่ บ้านซามือลา ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านสระมาลา หมู่ 3 ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี อายุประมาณ 100 ปีเศษ ที่กำลังทรุดโทรมลงอย่างหนัก โดยภาพที่ได้จากศิลปิน จะนำมาจัดนิทรรศการ SEMELA SEMULA ณ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ระหว่างวันที่ 12 – 30 มีนาคม 2566 นี้

โดยในช่วงเช้าเป็นกิจกรรมการวาดและสเกตภาพบ้านซือมาลาจากศิลปิน ณ บ้านซือมาลา และเสวนาและความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ศิลปิน ชาวบ้าน เพื่อหาทางการทนุบำรุงให้บ้านทรงคุณค่าคงอยู่ตลอดไป

ภายในงานเปิดนิทรรศการ ณ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี TK Park Pattani มีการแสดงโชว์ภาพวาด และการประมูลภาพวาดจากศิลปิน ทั้งหมด 12 ท่าน ที่ได้จากการวาดเสกตภาพ ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ รายได้ทั้งหมดเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสมทบทุน เพื่อบูรณะบ้านซามือลา(ปอเนาะเก่าแก่) เพื่อเป็นการมีส่วนร่วมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันมีมายาวนาน เป็นคุณประโยชน์ โดยนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มาร่วมในงานด้วย

นายอิสมาอีล สาหลำ ประธานกลุ่มมลายูเสกตเชอร์ กล่าวว่า “จากที่เคยวาดภาพสถาปัตยกรรมไทยมานาน และมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้อยู่มาก การวาดครั้งนี้ ต้องขอบคุณศิลปินทั้ง 12 ท่าน ที่มาร่วมกันวาดในครั้งนี้ เพราะเราจะนำเงินไปมอบเพื่อซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด เนื่องจากเรือนไม้หลังนี้ อายุราวๆ 100 กว่าปีแล้ว ถือเป็นอาคารหนึ่งที่ทรงคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา รูปแบบทางสถาปัตยกรรม อันเป็นเอกลักษณ์ มีความสวยงามทางศิลปะ เทคนิคเชิงช่าง และลวดลายมลายู สมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ แก่เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต อีกทั้งในนิทรรศการ มีการแสดงผลงานของคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาววิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โครงการ Malay Study มาจัดแสดงอีกด้วย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ที่มีมายาวนาน เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อไป

ทีมข่าว@ชายแดนใต้