กยท.ระดมผู้ผลิตยางธรรมชาติ 12 ประเทศทั่วโลก หารือแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ พบปัญหาเก็งกำไรตลาดยางเซี่ยงไฮ้ !! (ชมคลิป)

0
808

กยท.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) 12 ประเทศทั่วโลก หารือแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พบเกิดจากการซื้อขายเก็งกำไรล่วงหน้ากันที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ พร้อมอนุมัติเงินทุนหมุนเวียน 250 ล้าน ให้ตลาดกลางใช้รับซื้อจ่ายเงินสดแบบวันต่อวัน

วันที่ 19 มิ.ย.  ที่ห้องประชุมสุคนธา โรงแรมเซ็นทารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทางการยางแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน (Toward Supply-Chain Efficiency) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. โดยมีสมาชิกจากสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ทั้งหมด 9 จาก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ ศรีลังกา เข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในการหาแนวทาง และการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) เป็นผู้ผลิตยางธรรมส่งออก ซึ่งมีปริมาณมากถึง 13 ล้านตัน ต่อปี และเฉพาะประเทศไทยประมาณ 4.5 ล้านตัน ต่อปี ซึ่งปัจจุบันปัญหาที่ทางกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติกำลังประสบคือราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งระบบไปจนถึงกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ได้มาจากการที่ปริมาณยางล้นตลาด แต่เกิดจากการปัญหาการซื้อขายกันที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายเก็งกำไรกันล่วงหน้า และในที่ประชุมกำลังหารือทางออกร่วมกัน

สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ทำเรื่องอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 250 ล้านบาท กระจายไปยังตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อจ่ายให้กับเกษตรกรที่นำยางมาขายที่ตลาดกลางให้ได้รับเงินแบบวันต่อวันแทนที่จะมารับในวันถัดไป เพราะต้องรอรับเงินจากผู้ซื้อยางจาก กยท. อีกทอดหนึ่ง ซึ่งคาดว่า น่าจะสามารถอนุมัติงับประมาณได้ในสัปดาห์หน้านี้

นอกจากนั้นยังได้หาแนวทางในการช่วยฟื้นฟูโรงงานผลิตยางของ กยท. โดยการสนับสนุน และส่งเสริมให้กลุ่ม หรือสถาบันเกษตรกรที่เป็นลูกข่ายในแต่ละแห่ง ให้สามารถกลับมาผลิตยางที่มีคุณภาพ ทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และ ยางแผ่นรมควัน GMP เพื่อนำมาป้อนให้กับตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง ซึ่งจะมีการรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม โดยมีการคำนวณมาจากต้นทุนและกำไรที่ควรจะได้รับ ก่อนที่จะมีการรวบรวม และเปิดประมูลให้กับกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งจะทำให้สามารถต่อรองราคาเพิ่มมากขึ้น

รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ทาง กยท. ยังได้เริ่มต้นโครงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเริ่มต้นในภาคอีสานสาน โดยการใช้กลไกของ กยท. คือ การเปิดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรชาวสวนยางในราคาที่สูงกว่าเจ้าอื่น 10 สตางค์ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาแปรรูป และเปิดประมูล หรือส่งขายให้กับกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยให้ราคายางสามารถกระเตื้องขึ้นมาได้ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งหากได้ผลดี ก็จะมีการนำมาปรับใช้ทั่วประเทศ  พร้อมกับจะเดินหน้าเจรจาส่งออกยางไปยังกลุ่มลูกค้านอกเหนือจากจีนที่ปัจจุบันมียอดส่งออกประมาณ 35 เปอร์เซ็น ของยางทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ

ทีมข่าว @ชายแดนใต้ จ.สงขลา