ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เปิด แอปใหม่ “ระบบตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาลปลอดภัยในโรงพยาบาล (HAL-Click)”

0
491

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล จัดงานเปิดตัวเว็บแอปพลิเคชัน HAL-Click ระบบตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาล ปลอดภัยสำหรับโรงพยาบาล นำโดย ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สำนักงานปัตตานี นายดำรง  กุกุทพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี นายแพทย์อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมแถลงข่าวการเปิดตัวเว็บแอปพลิเคชัน HAL-Click ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 3 TK Park Pattani อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี
ในปี พ.ศ. 2541 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มแนวคิดในการพัฒนาระบบ HAL-Q ซึ่งระบบ HAL-Q ย่อมาจากคำว่า Halal Assurance and Liability Quality System ที่หมายถึง ระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ (Quality System) เพื่อรับประกัน (Assurance) และรับผิดชอบ (Liability) ต่อสภาพฮาลาล (Halal) ของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยบูรณาการมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามเข้ากับระบบความปลอดภัยทางด้านอาหารตามมาตรฐานสากล (Food Safety) ด้วยการกำจัดและจำกัดสิ่งอันตรายทั้ง 4 ด้านให้ออกไปจากกระบวนการผลิตอาหาร คือ อันตรายทางกายภาพ อันตรายทางเคมี อันตรายทางชีวภาพ และอันตรายทางด้านหะรอม 
ปี 2554 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ได้จัดทำระบบบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล-ปลอดภัย หรือระบบ HAL-Q และวางระบบการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล จำนวน 40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ Feed back ที่ตามมาเมื่อวางระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ โรงพยาบาลยังประสบปัญหาการเข้าถึงเอกสารที่ยุ่งยากและเสียเวลาในการค้นหาเอกสาร รวมถึงแบบฟอร์มในการตรวจติดตามการดำเนินงานที่มีปริมาณมาก ทำให้เกิดความยุ่งยากและสับสนในการตรวจติดตามและรายงานผล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า HAL-Click เว็บแอปพลิเคชันตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาลขึ้น

เว็บแอปพลิเคชัน HAL-Click เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการตรวจติดตามการผลิตอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล ได้พัฒนาจนสำเร็จโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ปัจจุบันนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลที่วางระบบ HAL-Q แล้วจำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
ที่จ.ปัตตานี : โรงพยาบาลปัตตานี โร\งพยาบาลหนองจิก จ.ยะลา : โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา,
จ.นราธิวาส : โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลเจาะไอร้อง โรงพยาบาลแว้ง โรงพยาบาลศรีสาคร
จ.สงขลา : โรงพยาบาลนาหม่อม
จ.สตูล : โรงพยาบาลทุ่งหว้า โรงพยาบาลละงู
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี มุ่งมั่นพัฒนาระบบการบริหารจัดการฮาลาลเพื่อให้ผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีความเชื่อมั่นต่ออาหารที่รับประทานนั้นถูกต้องตามหลักสุขอนามัย หลักโภชนาการ และหลักศาสนบัญญัติอิสลาม รวมทั้งได้อาหารที่สะอาด และปลอดภัยทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ตามสโลแกนที่ว่า HAL-Click คลิกเพื่อคุณภาพฮาลาล

ทีมข่าว@ชายแดนใต้