“พช.นราธิวาส ประกวดเผยแพร่และการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge based OTOP : KBO) ระดับประเทศ ของอำเภอรือเสาะ “

0
1013

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชนฯ และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Hand in Hand ร่วมกิจกรรมการประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) ดีเด่น ประจำปี 2564 ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Hand in Hand ม.5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดฯ ซึ่งในปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมการประกวดเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดดีเด่นประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM Cloud Meeting กำหนดดำเนินการประกวดระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม 2564

ในการนี้นายวิเชษฐ์ ไทยทองหนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ได้นำเสนอผลงานของกลุ่ม โดยเน้นการออกแบบชุดกีฬา ที่ทันสมัย เหมาะสมกับคนในพื้นที่ กับคนมุสลิม โดยจะขยายตลาดไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซีย บรูไน เป็นต้น ส่วนตลาดในประเทศจะมีลูกค้า สั่งซื้อในการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการแข่งขันกีฬา เพื่อการกุศล ซึ่งจะสั่งเป็นจำนวนมาก 1,000 ตัวขึ้น เพราะเราเน้นการมีส่วนร่วม ให้คนทำงานมีอาชีพ มีรายได้ ขายในราคาย่อมเยา ไม่เน้นกำไรมากนัก ให้สมาชิกอยู่ได้และสามารถเป็นการช่วยสังคมส่วนรวมอีกด้วย

โดยกิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมกระบวนการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมให้คณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน มีมูลค่าเพิ่ม สร้างสรรค์นวัตกรรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของเครือข่ายองค์ความรู้ kBO จังหวัด โดยจังหวัดนราธิวาส ได้พิจารณาคัดเลือกผลิตภัณฑ์เสื้อกีฬา ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Hand in Hand เป็นตัวแทนของจังหวัดนราธิวาส เพื่อเข้าร่วมประกวดผลงานฯ ในกิจกรรมดังกล่าว สำหรับผลิตภัณฑ์เสื้อกีฬา ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Hand in Hand เดิมเป็นเสื้อกีฬาที่ออกแบบเหมือนเสื้อกีฬาทั่วไป ไม่มีความโดดเด่น เมื่อได้รับการพัฒนาตามโครงการฯ ผลิตภัณฑ์จึงมีการพัฒนา ดังนี้ 1. การพัฒนาการออกแบบลายผ้าให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ชุมชน อาทิ ใบไม้สีทอง หนึ่งเดียวในโลก เรือกอและ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวประมง ,นกเงือก นกพื้นถิ่นที่มีอยู่ในป่าบาลา – ฮาลา และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนราธิวาส โดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยพิมพ์ลายโดยให้สีที่สม่ำเสมอ 3. การนำผ้าทอ ผ้าบาติก/ปาเต๊ะ ซึ่งผ้าที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นส่วนประกอบในตัวเสื้อกีฬา 4.การออกแบบเสื้อกีฬา ให้ใส่ได้หลายรูปแบบ เพื่อสร้างความสนุกสนาน ในการแต่งกาย 5. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากเดิมเป็นถุงพลาสติกใส เป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม 6. การพัฒนาและส่งเสริมช่องทางตลาดออนไลน์ให้แก่กลุ่ม ฯ

นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (KBO) ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน มีมูลค่าเพิ่ม สร้างสรรค์นวัตกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงาน ของเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดนราธิวาส ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาแล้ว ให้มีโอกาสนำเสนอออกสู่ตลาด อันเป็นการเปิดช่องทางการตลาด ให้กับผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ต่อไป

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร บก.@ชายแดนใต้ จ.นราธิวาส