ไอเดียเจ๋ง เสริมคุณค่าชีวิต !! เปิดสอนภาษาอังกฤษ ล่าสุดผุดอาชีพใหม่ รับฝาก สว. (สูงวัย) เผยภาพอาชีพใหม่มาแรง รับฝาก สว.

0
429

 รายงานพิเศษ. เผยภาพอาชีพใหม่มาแรง รับฝาก สว. (สูงวัย) พร้อมบริการอาหาร ขนม เสร็จสรรพ แถมมี WIFI เปลี่ยนการนอนอยู่บ้านเหงา ๆ มาพูดคุยกับเพื่อน ๆ แทน สนุกเพลิดเพลินพบปะเพื่อนใหม่พูดคุยไร้นินทา
สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อันประกอบด้วยปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ลูก กลายมาเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยว มีเพียงลำพังพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุขาดความรักและการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน ช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้สูงอายุบางคนคือช่วงเวลาหลังเกษียณ บางคนยังไม่พร้อมจะเกษียณเพราะคิดว่าตนเองยังสามารถทำงานได้และทำได้ดีเหมือนเดิม แต่ลูกหลานเป็นห่วงไม่อยากให้ทำงานอีก ต้องการให้พักผ่อนเพราะทำงานหนักมานานแล้ว การที่ไม่ได้ทำงานที่เป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกด้อยคุณค่า เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ เบื่อหน่าย และแยกตัวออกจากสังคม แต่ถ้าพยายามมองในด้านบวก จะเห็นว่าช่วงเวลาหลังเกษียณเป็นโอกาสที่เราจะได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ทำงาน DIY (do it yourself)

เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือทำในสิ่งที่อยากทำเสมอมาแต่ไม่เคยมีเวลาทำเนื่องจากมีภาระหน้าที่การงาน ผู้ที่ไม่มีงานอดิเรก ไม่มีสิ่งที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจใดๆ ในชีวิต ไม่เคยสนใจอะไรเลยนอกจากหน้าที่การงาน จะปรับตัวได้ลำบากเมื่อเกษียณ
นางเลี่ยงไกว แซ่เลี่ยง อายุ 78 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 ถ.วีระพันธ์ อ.เบตง จ.ยะลา บอกว่า ภาวะเครียดตอนมีอายุมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ นำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร ฯลฯ ภาวะเครียดในผู้สูงอายุอาจเกิดจากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงพอที่จะปฏิบัติภาระกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง มีความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เนื่องจากลูกหลานแยกย้ายกันไปมีครอบครัว มีปัญหาด้านการเงิน จากการที่เคยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำให้กับผู้อื่น เคยเป็นที่ยอมรับและยกย่องในสังคมหรือในแวดวงธุระกิจการงาน กลับกลายมาเป็นภาระของครอบครัวและของผู้อื่น สมอง ความคิด ความจำที่เคยแจ่มใสเริ่มมีอาการเสื่อม เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดเริ่มล้มหายตายจากกันไป เหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล จนบางครั้งก็ท้อแท้ สิ้นหวัง และซึมเศร้าในที่สุด นางเลี่ยงไกว บอก
ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านราว 2% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านจะมีอาการป่วยบ้าง แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และในช่วงกลางวันมักต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล เนื่องจากลูกหลานออกไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์


และ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่บ้านเลขที่ 59 ถ.วีระพันธ์ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งบ้านดังกล่าวได้เปิดเป็น สถานรับฝาก สว. (สูงวัย)  โดยเปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. พร้อมบริการอาหารเช้า-เที่ยว กาแฟ น้ำชา โอวัลติน ของว่าง และที่ขาดไม่ได้ในสมัยนี้ก็คือ WIFI ชาร์จแบตมือถือ โดยคิดค่าบริการวันละ 300 บาท ชั่วโมงละ 60 บาทเท่านั้น เรียกว่าเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่สามารารถสร้างอาชีพใหม่ที่โดนใจชาวสูงวัยสุด ๆ เพราะนอกจากจะได้ออกมานอกบ้าน พบปะพูดคุยกับคนอื่น ๆ ยังมีอาหาร ขนม พร้อมเกมส์เพื่อพัฒนาด้านสมอง อีกด้วย โดยมีคุณพูลไท ลวากร อายุ 55 ปี เป็นเจ้าของและผู้ดูแล
คุณพูลไท กล่าวว่า เตรียมที่จะจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) โดยใช้พื้นที่บ้าน เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้าและมารับกลับในตอนเย็นเหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก ซึ่งสถานรับฝาก สว. (สูงวัย) จะมีบุคลากรที่เกษียณอายุราชการจากสาธารณสุข มาดูแล ผู้สูงอายุ โดยการดูแลใช้ผู้ดูแล 1 ต่อ 3 คน ทั้งการให้นำทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน หากเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพก็จะช่วยเหลือดูแลแก้ไขให้ โดยได้มีการประสานชุดหน่วยกู้ชีพในพื้นที่มาสแตนบาย หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้สูงวัย โดยเมื่อผู้สูงวัยเข้ามารับบริการ ก็จะได้รับการบริการ เช่น ผู้ที่เดินไม่ได้ก็จะช่วยกายภาพบำบัด ดูแลสุขภาพจิตใจไม่ให้เศร้าหมอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของสถานดูแลผู้สูงอายุต้นแบบดังกล่าว จะเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ซึ่งเวลากลางวันต้องอยู่บ้านคนเดียว และเป็นชนชั้นกลางที่ลูกหลานมีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าดูแล เพราะจะมีการเก็บเป็นรายวันและรายชั่วโมง โดยรายวันจะคิดวันละ 300 บาทโดยเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น.ไปจนถึง 15.00 น.และรายชั่วโมงกรณีลูกหลานไป

ประชุม ธุระด่วน คิดอัตราชั่วโมงละ 60 บาท ส่วนกลุ่มที่ร่ำรวยมีกำลังทรัพย์มากก็จะไม่รับเข้าดูแลในสถานดูแลนี้ เนื่องจากมีกำลังในการจัดหาผู้ดูแลส่วนตัวเบื้องต้นคาดว่าจะรองรับได้ไม่เกิน 15 คน คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้เร็วๆนี้ และได้เปิดมาแล้วกว่า 2 ปี ที่ผ่านมาได้ถอดบทเรียนและจัดทำเป็นมาตรฐานในเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ โดยในแนวทางมาตรฐานจะมีการระบุถึงส่วนประกอบที่จะต้องมีภายในสถานดูแลผู้สูงอายุ และข้อควรระมัดระวังต่างๆ โดยหากทำได้ตามมาตรฐานที่กรมกำหนด ก็จะออกเป็นเอกสารรับรองมาตรฐานให้สถานดูแลผู้สูงอายุนั้นๆ เพื่อเป็นการการันตีให้กับประชาชน
ซึ่งธุรกิจงานดูแลผู้สูงวัยในปัจจุบัน กำลังเป็นที่นิยม เพราะบุตร หลาน หลายคนไม่ว่างที่จะดูแลในช่วงกลางวัน เนื่องจากต้องออกไปทำงานข้างนอก เลยต้องหวังพึ่ง สถานรับฝาก สว. (สูงวัย) เพื่อให้ดูแลผู้สูงวัย แทน แต่สำหรับผู้สูงอายุที่เกษียณหรือว่างไม่มีอะไรทำ เพราะลูก ๆ ออกไปทำงาน จะให้นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บ้านเฉย ๆ พวกท่านก็คงต้องเหงากันเป็นธรรมดา จึงได้มาใช้บริการสถานรับฝาก สว.(สูงวัย) คุณพูลไท กล่าว
นอกจากนี้ ทางสถานรับฝาก สว. (ผู้สูงวัย) ยังเตรียมที่จะจัดหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อที่จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีการรับรองการผ่านการอบรม โดยจะมีการอบรมการดูแลทั้งในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อในผู้สูงอายุ และการป้องกันการสำลักอาหาร เป็นต้น
คุณพูลไท ลวากร บอกอีกว่า เป็นความท้าทายสังคมไทยอย่างมากกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าในปี 2563-2573 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับอัตราเพิ่มของเด็กเกิดใหม่และคนวัยแรงงานที่ลดลง และไม่เพียงเป็นประเทศที่จะมีประชากรสูงวัยขึ้นเท่านั้น แต่ประชากรที่สูงอายุอยู่แล้วก็จะกลายเป็นสูงวัยมาก หรือเข้าสู่ภาวะชราภาพขึ้นไปด้วย ซึ่งหมายถึงโอกาสการเจ็บป่วย หรือมีภาวะทุพพลภาพก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ในเชิงวิชาการมีหลายสถาบันการศึกษา กำลังศึกษา คิดหาแผนรับมือกับสังคมสูงวัยของประเทศ แต่ในแง่ของตัวบุคคล ว่ากันตามจริง สถานการณ์ การหาทางหนีทีไล่ และเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุ ยังตื่นตัวและกระจุกอยู่ที่ผู้ที่กำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัย หรือเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วจริงๆ เท่านั้น แต่สำหรับผู้อยู่ในวัย 30 กว่าๆ ในวันนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคิดเรื่องการเตรียมการรับมือกับสภาพสูงวัยของตนเองในอนาคต
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชีวิตสูงวัยมีความซับซ้อนที่เรื่องราวมากมายที่ต้องบริหารจัดการ เพราะชีวิตสูงวัยก็เหมือนการเข้าสู่วงรอบใหม่ของวัฏจักรชีวิต เหมือนเราก้าวพ้นจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเป็นวัยหนุ่มสาว จากวัยหนุ่มสาวเป็นวัยทำงาน และจากวัยทำงานก็จะเป็นวัยของผู้สูงวัย
คำว่า “สูงวัย” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความเสื่อมถดถอยทางร่างกายเท่านั้น หรือความสามารถบางอย่างที่เคยมีในวัยหนุ่มสาวจะหดหายไป โดยเฉพาะความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ทั้งการเดินเหิน การออกท่องเที่ยวเดินทาง ที่จะไม่เหมือนเดิม แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สังคมรอบตัวอีกด้วย
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่กายภาพ “บ้าน” ที่เคยอยู่อาศัยมา 30-40 ปี อาจไม่สามารถตอบโจทย์กับชีวิตในวัยนี้ ยิ่งถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นเดินเหินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น ประตู ทางเดิน หรือห้องน้ำของบ้านเดิมที่เคยอยู่ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดคนดูแลที่หายากขึ้นทุกวันอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงได้เปิดสถานรับฝาก สว. (ผู้สูงวัย) เพื่ออีกทางเลือกให้กับคนทำงานที่ไม่อยากปล่อยให้ผู้สูงวัย อยู่เพียงลำพัง

ภาพ/ข่าว เจษฎา สิริโยทัย ทีมข่าว@ชายแดนใต้อ.เบตง จ.ยะลา