รองเลขาฯ ศอ.บต. ร่วมหารือแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้รับผลกระทบจากโรคเหี่ยวในกล้วยหิน

0
531

รองเลขาฯ ศอ.บต. ร่วมหารือแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้รับผลกระทบจากโรคเหี่ยวในกล้วยหิน

วันนี้ (26 ตุลาคม 2561) ณ ห้องรับรองชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้การต้อนรับคณะเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนคลัสเตอร์กล้วยหินยะลา และคณะวิจัยจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

เพื่อขอบคุณ ศอ.บต. ที่ได้ร่วมพัฒนาโครงการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มศักยภาพการผลิตและการแปรรูปกล้วยหินแบบบูรณาการ ซึ่งกล้วยหินเป็นพืชคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดยะลา ได้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ทุกประการ พร้อมหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านรายได้ของเกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคเหี่ยวในกล้วยหิน

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปัญหาโรคเหี่ยวในกล้วยหินทำให้เกษตรกรที่ปลูกกล้วยหินได้รับผลกระทบ ซึ่งการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินเป็นหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัด แต่ด้านรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหินทางด้าน ศอ.บต. จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นางกมลลักษณ์ สายเมือง รักษาการแทนประทานครือข่ายวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนคลัสเตอร์กล้วยหินยะลา กล่าวว่า จากการเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินสภาพในพื้นที่ตอนนี้ดีขึ้นเยอะมาก แต่ปัจจุบันมีปัญหากล้วยหินในพื้นที่ขาดแคลน กลุ่มแปรรูปกล้วยหินในพื้นที่จากทั้งหมด 30 กลุ่ม ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 3 กลุ่ม ส่วนแปลงทดสอบมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อัตราการตายลดลง ในอนาคตมีโครงการจะทำแปลงทดสอบในพื้นที่เก่า ขุดหลุมใหม่ ใช้ต้นเก่า และใช้วิธีการรักษาแบบมอ.ควบคุม เนื่องจากมีการทดสอบแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรในขณะนี้ที่ขาดแคลนกล้วยหิน เพราะถ้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องใช้เวลา ต้นกล้าที่สะอาด ซึ่งตอนนี้ทางเทศบาลเพาะเลี้ยงให้อยู่และอีก2ปีถึงจะได้ต้นกล้า10000 ต้น แต่รายได้จากการเก็บเกี่ยวกล้วยหินเป็นรายได้ตลอดทั้งปีของเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหิน จึงควรมีโครงการเพื่อช่วยแก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหิน

อย่างไรก็ตามกล้วยหินถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลา และมีพื้นที่ปลูกกล้วยหินจำนวนกว่าสามพันไร่ แต่ในห้วง 3-4 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาโรคเหี่ยวในกล้วยหิน ซึ่งจะมีการติดเชื้อได้ 2 ทาง ทั้งทางรากและทางหัวปลีด้านบน ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ ศอ.บต. จึงได้รวบรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมศึกษา และหาแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาในระยะยาว เพื่อสร้างแนวทางการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคเหี่ยวในกล้วยหิน รวมถึงวิธียุติการแพร่ระบาดดังกล่าว

ภาพ/ข่าวมูกะตา หะไร ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ.ยะลา