“ตูปะ” หรือขนมต้มหรือข้าวต้มลูกโยน อาหารแห่งวัฒนธรรม ภาคใต้

0
9772

ขนมต้ม หรือข้าวต้มลูกโยน อาหารแห่งวัฒนธรรมภาคใต้ต้มขนมต้มหนมต้มข้าวต้มลูกโยนหรือ ตูปะในภาษามลายู

ความหลากหลายของชื่อที่เรียกแตกต่างกันออกไปตามวิถีแห่งท้องถิ่นนั้นๆ หากแท้จริงแล้วคือ ข้าวเหนียวที่ห่อด้วยใบกระพ้อ อาหารอันโอชะของคนในทางภาคใต้ของไทย โดยนำข้าวเหนียวผัดกับน้ำกะทิเกลือน้ำตาลผัดให้น้ำกะทิแห้งแล้วนำไปห่อด้วยยอดใบกระพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมอย่างมิดชิดก่อนนำไปต้มหรือนึ่งจนสุก

เส้นทางของข้าวต้มลูกโยนมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่นต่างๆในทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าวต้มลูกโยนหรือตูปะภาษามลายูที่แปลว่าข้าวเหนียว จะนิยมรับประทานกันในช่วงวันฮารีรายอวันตรุษอีดิ้ลฟิตรี ของพี่น้องชาวมุสลิมถือเป็นวันสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองการละศีลอดที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาเป็นแรมเดือนในเดือนรอมฎอนในวันเฉลิมฉลองก็จะมีการเตรียมสำรับอาหารคาวหวานต่างๆ เนื่องจากจะมีการเดินทางไปเยี่ยมเยียนและแจกจ่ายขนมอาหารต่างๆ ตามบ้านเรือนเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว คือการร่วมกันประกอบอาหารการทำตูปะจึงเป็นที่นิยมทำกันอย่างมากในทุกครัวเรือน เริ่มตั้งแต่การนำใบกระพ้อ เพื่อที่จะนำมาห่อตูปะที่ปรุงรอไว้การร่วมกัน ผัดข้าวเหนียวร่วมกันห่อข้าวเหนียว ก่อนจะนำไปนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำและเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความอบอุ่นสร้างสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นและจะยิ่งเหนียวแน่นมากขึ้นเมื่อได้อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวทานตูปะร่วมกันความรักความสามัคคีก็จะเหนียวแน่นเหมือนดังตูปะที่ช่วยกันทำและนำไปแจกจ่ายเผื่อแผ่ให้กับคนรอบข้าง

ในส่วนของวิถีพุทธคนทางปักษ์ใต้ก็นิยมทำต้มหรือหนมต้มหรือข้าวต้มลูกโยนด้วยวิถีทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นกันโดยเฉพาะในวันออกพรรษาซึ่งจะมีการชักพระลากเรือพระก็จะใช้ขนมต้มเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำบุญตักบาตรร่วมกันนำไปถวายบูชาแจกจ่ายเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตซึ่งเป็นการประสานความเชื่อจากทางศาสนาพุทธเป็นตำนานบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พุทธศาสนิกชนได้รับทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จึงได้มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วยแต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคนจึงจำเป็นต้องเอสภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อๆกันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมากๆจะส่งต่อก็ไม่ทันใจจึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้แล้วโยนไปใส่บาตรบ้าง

ชาวพุทธโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวใต้ได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาประยุกต์และคิดค้นรูปแบบของขนมที่สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนดังกล่าวขึ้นเรียกว่าขนมต้ม

ขนมต้ม  หรือตูปะจึงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีเรื่องราวมีรากเหง้าของวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งจะเป็นสื่อกลางสำหรับการเล่าขานการบอกต่อจากรุ่นสู่รุ่นเป็นสิ่งงดงามทางวัฒนธรรมที่แค่ฟังก็มีความอิ่มเอมในใจหากได้ลิ้มลองจะได้รับรู้ถึงสัมผัสที่ครบทุกมิติถึงความรักตำนานเรื่องเล่าไปจนนิรันดร์

 ณฐนนท์  สิทธิชัย  / สวท.ปัตตานี_รายงาน