ม.นราธิวาสฯ สานพลัง บพท.ปักเข็มทิศ พิชิตความจน ชุมชนบนเกาะ ตากใบ

0
444

สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซูจังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์” ภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่”


อจ.ทั้ง 2 เปิดเผยถึงมูลเหตุจูงใจให้ดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว โดยการรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นเพราะค้นพบว่า ชาวบ้าน 130 ครัวเรือนจำนวนประมาณ 800 คนที่อาศัยบนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ประกอบอาชีพประมง ควบคู่กับการขายแรงงาน มีลักษณะความเป็นอยู่เป็นชุมชนปิด ขาดการติดต่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ต้องใช้ชีวิตแบบแร้นแค้น โดยปราศจากน้ำจืด และต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ยืมจากผู้มีอุปการคุณในยามขัดสนขาดแคลน ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำการประมง ส่งผลให้ทุกคนทุกครัวเรือนบนเกาะล้วนมีความยากจน ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และมีปัญหาหนี้สินเรื้อรังมานาน ชีวิตต้องวังวนกับเงินกู้ยืม
ผศ.ดร.ธมยันตีฯ กล่าวด้วยว่า คณะวิจัยได้ลงสำรวจเก็บข้อมูลบนเกาะอย่างละเอียด และออกแบบกระบวนการแก้ไขความยากจนและปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสินค้าประมงแก่ชาวเกาะ แปรรูปอาหารทะเลเพื่อช่วยแก้ไขความยากจน ปลดเปลื้องปัญหาหนี้สิน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพูดคุยของความร่วมมือจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินแก่ชาวเกาะ ผ่อนปรนให้ชาวเกาะนำสินค้าประมงบางส่วนมาแปรรูปแล้วรวมกลุ่มกันจำหน่าย แทนการต้องนำสินค้าประมงทั้งหมดไปส่งมอบให้เพื่อลดหนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินทุกราย
“สูตรจัดการการเงินแก้หนี้แก้จนอย่างยั่งยืน ที่ทีมวิจัยร่วมคิดกับชาวบ้านคือการจัดสรรรายได้ 50% สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 30% สำหรับใช้ประกอบอาชีพ 10% สำหรับใช้หนี้ และ 10% สำหรับเก็บออม”

ชาวบ้านบนเกาะ นางซูไบด๊ะ บือราเฮง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปูลาโต๊ะบีซู กล่าวว่า ชุดความรู้และกระบวนการจัดการ ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล ที่คณะวิจัยถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านบนเกาะช่วยให้ชาวบ้านบนเกาะมีหนี้สินลดลง และชาวบ้านบางครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ อีกทั้งยังดึงดูดให้ชาวบ้านที่อพยพไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านกลับคืนสู่ภูมิลำเนา
เรามีศูนย์ครัวอเนกประสงค์ ออฟฟิศชุมชน เอาไว้ทำงานร่วมกัน แช่เก็บอาหารทะเล จัดการแพ้ค และขายของทางออนไลน์ด้วย เพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งช่วยกลุ่มชาวบ้านได้มากขึ้น

ด้าน รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่าโครงการวิจัยดังกล่าวฯ มุ่งทำให้ชาวบ้านที่ยากจนในพื้นที่ที่จนที่สุดในจังหวัดนราธิวาส มีความหวัง เกิดความเชื่อมั่นในขีดความสามารถของตัวเองในการปลดปล่อยตัวเองจากความยากจน บนฐานทุนที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ แล้วพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจฐานรากที่สร้างรายได้หมุนเวียนหล่อเลี้ยงชุมชนได้อย่างยั่งยืน เราเป็นพี่เลี้ยงและจะคอยเป็นเข็มทิศ นำความรู้สู่ชุมชนพิชิตความยากจน เพื่อปลดล้อค ชีวิตคนบนเกาะทุกครัวเรือนต่อไป

ทีมข่าว@ชายแดนใต้ นราธิวาส