ราชภัฏยะลา ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายฯเสวนาแก้จนสร้างโอกาสใหม่ แก่สังคม ขณะที่ชาวบ้านดีใจมีรายได้เพิ่ม แก้ปัญหาตรงจุด สนองความต้องการ

0
285


วันนี้ (15 มิ.ย.66) เวลา 08.30 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายพื้นที่จังหวัดยะลา จัดกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ”บทบาทและผลการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนและการสร้างโอกาสทางสังคม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและภาคีเครือข่ายพื้นที่จังหวัดยะลา”ภายใต้ชุดโครงการ “การพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมจังหวัดยะลา” Strategic Research Area: SRA โดยมี นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวพบปะและพูดถึงแนวทางขับเคลื่อนปัญหาความยากจนที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ และยุทธศาสตร์ของจังหวัดยะลา ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย รองอธิการบดี ผู้บริหาร นายอำเภอ กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนยะลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยนักวิจัย และแขกผู้มีเกียรติ ณ หอประชุมโรงเรียนรามันห์ศิริวิทย์ ต.กายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมจังหวัดยะลา” มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 นำร่อง 2 อำเภอ คือ อำเภอรามันที่ตำบลอาซ่อง ตำบลกอตอตือร๊ะ และอำเภอบันนังสตาที่ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ สามาถค้นหาสอบทานครัวเรือนยากจน ร่วมกับฐานข้อมูล TP-MAP ได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 11,742 ครัวเรือน หรือ 45,231 คน มีการพัฒนาทำ MOU กับหน่วยงานในจังหวัดยะลา 24 หน่วยงาน โดยร่วมกันพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในขณะนี้จังหวัดยะลาได้รับการคัดเลือกเป็น 7 จังหวัดพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ในการขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมร่วมกับจังหวัดลำปาง กาฬสินธ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ทำให้งานโครงการนี้ของเราได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการมาร่วมดำเนินการในระหว่างปี 2566-2570 โดยต้องขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และในปี 2566 นี้

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับ คณะกรรมการ อว.ส่วนหน้าจังหวัดยะลา ได้รับความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และวิทยาลัยชุมชนยะลา ในการร่วมกันขับเคลื่อนใน 3 อำเภอประกอบด้วย อำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา และอำเภอกรงปินังและร่วมกับ 16 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลอาซ่อง ตำบลเกะรอ ตำบลท่าธง ตำบลยะต๊ะ และตำบลกาลอ ตำบลกอตอตือร๊ะ, ตำบลกายูบอเกาะ ตำบลวังพญา และตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และ ตำบลกรงปินัง, ตำบลสะเอะ ตำบลห้วยกระทิง และตำบลปุโรง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
นางสาวรูมา สะหะโด ชาวบ้านกลุ่มผลิตกระเป๋า ต.กอตอตือระ อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า เศรษฐกิจตอนนี้ค่อนข้างแย่ บางคนทำอาชีพกรีดยางอย่างเดียว ซึ่งไม่พอต่อรายจ่าย จึงต้องหาอาชีพเสริม ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ลงมาพัฒนาและแก้ปัญหาความยากจนประมาณ 3 เดือน เกี่ยวกับการทำกระเป๋าทำให้ตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าดีมากทำให้ตนเองมีอาชีพเสริม สามารถจุนเจือคนในครอบครัว และในชุมชนด้วย ปัจจุบันก็มีชาวบ้านสนใจหลายคน มหาวิทยาลัยฯมาเสริมองค์ความรู้ มีวิทยากรมาสอนแนะนำให้กับชุมชน ทั้งนี้อยากเสนอแนะเพิ่มอาชีพเสริมให้กับกลุ่มผู้ชายบ้างอย่างเช่น ทำเก้าอี้ หรืออย่างอื่นที่เป็นการเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวอีกด้วย


ด้านนายยามิง ดือระปุปิ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่5 ต.กอตอตือระ รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า เมื่อก่อนทำสวนยางพึ่งธรรมชาติ ทำนาก็ต้องพึ่งธรรมชาติ ก็ส่งผลต่อการเศรษฐกิจ ประชากรมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย พอทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเข้ามา ผมมองเห็นว่าสนองต่อความต้องการของชุมชน มีอาจารย์ นักวิจัย ลงพื้นที่สามารถแก้ปัญหาตรงจุด ที่ผ่านมาข้อจำกัดไม่ตอบโจทย์และไม่สนองต่อความต้องการของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องการมีรายได้ แต่ต้องไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา เรามองเห็นโอกาสอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ราชภัฏเข้ามาและตั้งคำถามกับพวกเรา คือ ชุมชนเคยทำอะไรมาแล้ว แต่ทำแบบไม่มีความรู้ ทางมหาวิทยาลัย นำเอางานวิจัยมาช่วยเสริมเพิ่มมูลค่า และให้ชุมชนมองหาอัตลักษณ์ หาข้อดีของชุมชนตนเอง ซึ่งชุมชนยังขาดโอกาสในการสร้างอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ มาเป็นจุดเด่นของสินค้า ราชภัฏมาช่วยดูแลและจัดการตรงนี้ การทำวิจัยคู่กับความต้องการของชุมชนมีโอกาสจะเห็นผลสำเร็จ การสร้างผลสำเร็จไม่ใช่เรื่องของปริมาณอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ การต่อยอดอย่างยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้อยากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาให้มาดูแลชาวบ้าน อย่างน้อย 10 ปี