สมาน อู่งามสิน “เรื่องเล่าจากคนขายหนังสือ”

0
943

    ค่ำคืนหนึ่ง @ชายแดนใต้  ได้มีโอกาสสนทนากับหนุ่มวัยรุ่น(ใหญ่)ท่านหนึ่ง เพื่อเปิดมุมมอง และแง่คิดเกี่ยวกับความคิดเห็นของเขาที่สะท้อนถึงคนและความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาน อู่งามสิน เป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการของคนผลิตและขายหนังสือมายาวนาน เขาเป็นคนขายหนังสือที่แตกต่างจากคนขายหนังสือทั่วไปตรงที่มิได้ขายแค่หนังสือศาสนา แต่ยังมีหนังสือปรัชญา การเมือง ประวัติศาสตร์และสังคม ทั้งเก่าและใหม่รวมอยู่ด้วย

  ไม่เพียงแต่รู้จักหนังสือทุกเล่มที่ขาย แต่ยังเป็นคนแนะนำหนังสือได้ดีมากๆ อีกด้วย จากนักศึกษาอัสสัมชัญพาณิชย์ (A.C.C.) สู่นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ชีวิตเขาพลิกผันหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 ยุคที่เรียกว่าประชาธิปไตยผลิบาน ผ่านกิจกรรมของชมรมมุสลิมรามคำแหง (ชมร.) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.) และสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) มันเป็นเส้นทางชีวิตที่ผันผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ หนังสือหลายเล่มของจิตร ภูมิศักดิ์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เขาจนทำให้เขาไม่ใช่แค่คนผลิตหนังสือ คนอ่านหนังสือ และคนขายหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นคนสะสมหนังสือเก่าหายากแนวประวัติศาสตร์และการเมืองทั้งอิสลามและไม่ใช่อิสลามมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย เริ่มทำสำนักพิมพ์อัล-อีหม่านในปี 35 โดยจัดพิมพ์หนังสือศาสนา เช่น หะดีษบุคอรีเล่ม 1-9, หะดีษมุสลิม เล่ม 1-2, บุคลิกศาสดาจากอัลหะดีษ และคำสั่งเสียศาสดา เป็นต้น  การผลิตหนังสือเป็นการลงทุนที่สูงมาก ได้กำไรน้อยและช้ามาก แต่เขาก็คิดว่าเป้าหมายไม่ใช่แค่ขายหนังสือเพื่อเม็ดเงินหรือผลกำไรใดๆเท่านั้น ผลบุญจากการเผยแผ่อิสลามต่างหากที่เพิ่มกำไรให้กับชีวิตของเขา ปัจจุบันเขียนบทความประจำในนิตยสาร The Alami และวารสารรูสมิแล นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้เขาได้เสนองานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการร้อยหวายเชลยศึกมลายูปาตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2329 สู่บางกอก และปลายปีนี้น่าจะมีงานบรรณาธิการวรรณกรรมเอกเล่มหนึ่งของโลก ROOTS ออกสู่สายตานักอ่านหลายท่านที่กระหายอยากศึกษาทบทวนเรื่องราวของทาสผิวดำมุสลิมจากแกมเบีย Kunta Kinte ที่ถูกจับขึ้นเรือมาอเมริกาเมื่อ 250 ปีก่อน

เดินทางล่องใต้ขายหนังสือหลายปีและประกอบกับได้เป็นนักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4ส5) ที่เน้นประเด็นความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ของสถาบันพระปกเกล้าฯ จึงทำให้เขาได้ซึมซับปัญหาหลายอย่างในจังหวัดชายแดนใต้ เขามองว่า คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่าครึ่งทศวรรษ พวกเขาไม่ต้องการจะจ่อมจมอยู่กับสภาพการณ์เช่นนี้อีกต่อไป พวกเขาอยากแสดงตัวตนในสังคมไทยที่กว้างออกไปด้วยการเสนองานเชิงศิลปวัฒนธรรมที่พวกเขาชำนาญด้วยการรื้อทำลายข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่จำเป็นออกไป เราจึงเห็นสภาพการดิ้นรนจัดกิจกรรมวัฒนธรรมชายแดนใต้อย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กิจกรรมสตรี การจัดแสดงภาพถ่าย ภาพเขียน บทกวี หนังสั้น งานผ้า กริช ศิลปะการป้องกันตัวสีละ อาหาร ดนตรี  ค่ายเยาวชนและกีฬา เป็นต้น



เขายังเสนอความเห็นอีกว่า วันนี้คนรุ่นใหม่เพิ่งจะเริ่มก้าวแรกบนถนนสายที่คาดว่าจะนำไปสู่สังคมสันติสุขซึ่งปลายทางแห่งความสำเร็จยังอีกยาวไกล จึงจำเป็นต้องเร่งหาหลักประกันที่จะประคองตัวไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ หลักประกันที่คนรุ่นใหม่จะสามารถพาตนเองไปสู่สังคมสันติสุขที่พอจัดหาได้ด้วยตนเองด้วยการจ่ายราคาที่ย่อมเยาว์ได้คือ “การอ่าน” ซึ่งองค์รวมหมายถึงกระบวนการศึกษาค้นคว้าวิจัย พบปะพูดคุยกับผู้รู้ในสังคมที่หลากหลายความคิดความเชื่อ ประมวลและสรุปเป็นระยะๆ กระบวนการเช่นนี้ใช้ระยะเวลายาวนานซึ่งเรียกร้องความอดทนเป็นที่สุด โจทย์ใหญ่คือคนรุ่นใหม่ต้องสามารถประสานเอกลักษณ์รากเหง้าทางประวัติศาสตร์กับความเป็นสมัยใหม่ให้กลมกลืนกัน เพื่อไปสู่การค้นพบ Model รูปร่างหน้าตาชุมชนจินตนาการ Imagined Community  ที่เปี่ยมล้นด้วยสันติสุข ขอย้ำอีกทีว่า “การอ่าน” เท่านั้นที่เป็นเครื่องมือง่ายๆและใกล้มือที่สุดที่คนรุ่นใหม่สามารถหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบัน พูดในทางกลับกัน ถัาไม่อ่าน ก็มิอาจบรรลุเป้าหมายใดๆ ทั้งสิ้น


คอยพบกับเรื่องเล่าในแง่มุมที่งดงาม แฝงด้วยคุณธรรม ความรื่นรมย์และความหรรษาของสมาน อู่งามสิน ผ่านบทความ “เรื่องเล่าจากคนขายหนังสือ” ใน@ชายแดนใต้ เร็วๆ วันนี้
สุกรี มะดากะกุล บรรณาธิการ@ชายแดนใต้