สกู้ปพิเศษ…ผู้ว่าฯแก้จนเพื่อปัตตานี !!!

0
1343

#เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะพาเค้าไปด้วย” นโยบายแก้จนระดับประเทศ ของ #วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าคนปัตตานี

…. .ความเป็นอยู่เป็นสุขของคนในชาติ คือเป้าหมายที่รัฐบาลต้องถือเป็นวาระแห่งชาติอันดับต้น ๆ หากความเป็นอยู่ของคนในชาติ ไร้ที่ทำกิน ไร้ที่พักนอน ย่อมส่งผลกระทบถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ยากจะก้าวข้ามไปข้างหน้า ปัตตานี คือ จังหวัดหนึ่งที่ “จน” ระดับต้น ๆ ของประเทศ จากสถิติการสำรวจของสภาพัฒน์แห่งชาติ วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ลูกคนตานีกลับบ้านเกิด ประกาศชัดว่า จะแก้จนตามนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” วีรนันทน์ เสริม “เราจะพาเค้าไปด้วย”

….นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การที่ตนเป็นผู้ว่าก็ได้ยึดหลักของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านพูดไว้ว่า “นักปกครองต้องรองเท้าขาด ก่อนที่ก้นกางเกงจะขาด” นั้นหมายถึงว่า เราต้องดูแลชาวบ้าน ต้องเดินจนกว่ารองเท้าขาด ถ้าก้นกางเกงขาดนั้นหมายถึงเอาแต่นั่งไม่เดิน ซึ่งช่วงที่เป็นรองผู้ว่าปัตตานี มีโอกาสไปเยี่ยมชาวบ้าน ก็พบว่า ชาวบ้านจนจริง ๆ บางบ้านมีแต่ฝาบ้าน บางบ้านเป็นเพิง ชาวบ้านนอนติดเตียง ลูกเป็นโปลิโอ บางบ้านพ่อแม่แยกทาง ลูกหลานก็อาศัยตามมีตามเกิด สุไลมาน เคยไปด้วยกันก็เคยเห็น ถ้าใครไม่ไปดูไม่สัมผัสก็ไม่รู้ หลายองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้มีสภาพความเป็นอยู่อย่างนี้ก็อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ขาดการศึกษา ขาดการดูแล ถูกทอดทิ้ง ไม่มีงาน ถามว่าเค้าอยู่ได้ แต่อยู่แบบจน ๆ เพราะในบ้านเราปัจจุบันถึงแม้ว่าไม่อุดมสมบูรณ์เมื่อครั้งก่อน แต่ก็พอหากินหาอยู่ได้แต่ลำบากมาก ๆ แม้เฉพาะน้ำ “บูดู” ราคายังแพง นับประสานอะไรกับน้ำมันหรืออื่น ๆ ที่แพงขึ้นไปอีก ในอนาคตก็จะแพงไปอีก

วีรนันทน์ เล่าว่า หากย้อนกลับไปสมัยที่ตนยังเรียนหนังสื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ซึ่งตนสนใจมาก บอกว่า จังหวัดที่ยากจนที่สุดของภาคใต้ คือ พัทลุง และ ปัตตานี นั้นคือ สมัย ปี 2525 ถามว่า ตนเป็นคนจังหวัดปัตตานี พอรู้แล้วก็รู้สึกว่า จะต้องกลับไปพัฒนาจังหวัดตนเองให้ได้ เมื่อได้มีโอกาสเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตนก็ทำงานทันที ยิ่งพอได้เป็นผู้ว่าปัตตานี แล้วมาดูตัวเลขของสภาพัฒน์ประกาศก็มา ช่วงปี 2556 2557 ปัตตานีอยู่ลำดับ 4 และ 5 พอมาปี 2558 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ นั้นหมายถึง จนที่สุดในประเทศ พอมาถึงปี 2559 ล่าสุดลดลงมาเป็นอันดับที่ 2 นั้นหมายถึงว่าอยู่ในระดับ ท้อปเทนของประเทศที่ยากจนที่สุด ซึ่งจะต้องเร่งแก้ปัญหา และยังเชื่อว่า “ความยากจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่”

ถามว่าปัตตานีมีแห่งอุตสาหกรรมและการประมงจำนวนมาก มันไม่ช่วยอะไรเลยหรือ วีรนันทน์ บอกว่า อุตสาหกรรมมากแค่ไหนตนจะวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์ให้ฟังแบบน่าสนใจ คือ ทุนอยู่ที่ใครในข้อเท็จจริง และอุตสาหกรรมมากแค่ไหนกับอัตราการจ้างคน โรงงานอุตสาหกรรมมีกี่โรง ฐานรากที่เป็นคนงานกี่คน กับประชากรปัตตานีเกือบ 7 แสนคน เมื่อรายได้มามันเป็นภาพเศรษฐกิจรวม แหล่งท่องเที่ยวก็ไม่มี ถึงมีนักท่องเที่ยวก็น้อย แต่ประชาชนอยู่กับประมงพื้นบ้าน ยางพารา ผลิตข้าว ผลไม้ นั้นประชาชนส่วนใหญ่ แต่เราไปมองอุตสาหกรรมถามว่ามีกี่โรง แต่ถ้าประมงพื้นบ้านทำเงินได้มาก ประชาชนก็มีฐานะดีขึ้น การกระจายรายได้ต่างหากที่ตอบโจทย์ปัญหาคนจนคนรวย ที่เค้าเรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ปัตตานีมีอาการอย่างนี้ ฉะนั้นในข้อเท็จจริง มีคนจนเยอะ นี่คือโจทย์ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ยิ่งพอสำรวจ ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยกรมพัฒนาชุมชนลงไปเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจต้องมาตราฐาน 33,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ปัตตานีไม่ถึงและพบว่ายังมีเยอะถือว่ายังจน ด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกแต่ละอำเภอมาตรวจสอบข้อมูลก็พบว่าหลายอำเภอยังมีครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์รายได้ต่ำกว่า 33,000 บาท

“นาทีนี้การทำงานตนจะเอาเป้าจาก แบบสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) มาเป็นตัวลงไปทำงาน ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตมีศักยภาพมาพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้ได้ ก็คือ ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะ คือ 1.คณะทำงานแก้ไขปัญหาความยากจน กับ 2.คณะทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ที่ผ่านมาประชุมมา 3 ครั้งแล้วว่าจะเอาเป้าหมายจาก จปฐ.มาทำงานเป็นตัวตั้งเพราะมันชัดเจน มีการลงไปสำรวจพื้นที่ตามครัวเรือนเรียบร้อยแล้ว เพราะมันจะเร็วทำได้จริง มุ่งไปหาคนจนจริง ๆ ตนจึงเรียกนายอำเภอซึ่งให้เป็นหัวหน้าทีมแต่ละอำเภอเข้ามารายงานข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น อ.มายอ ซึ่งเราเห็นตัวเลขจาก จปฐ.มี 320 ครัวเรือน จึงได้ให้นายอำเภอจัดทีมไปเยี่ยมบ้านในรายแต่ละตำบลเพื่อเอาข้อเท็จจริงมา ว่าเค้าอยู่อย่างไร ทำไมเค้าจน เค้ามีศักยภาพอย่างไรแค่ไหน เอามาดูแบบเข้มข้น ถามว่าทำไมต้องทำแบบเข้มข้น เพราะเราสามารถช่วยคนได้ 10 ครัวเรือนก็ได้ 10 ครัวเรือน ฉะนั้น อ.มายอ ถ้าช่วยได้ก็สามารถช่วยได้ถึง 320 ครัวเรือน ตนให้เวลา 2-3 อาทิตย์นายอำเภอทุกคนกลับไปทำให้เสร็จ ช้าไม่ได้ และตนจะเรียกมาแต่ละอำเภอมาคุยกัน” ….วีรนันทน์ บอก

….วีรนันทน์ ยังขยายความอีกว่า ตนจะอธิบายคนที่จนแยกเป็น 2 ประเภท คือ 1.จนแบบต้องสงเคราะห์ เช่น แม่นอนติดเตียง ลูกโปลีโอเลี้ยงแม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะทำงานคือ พมจ. กาชาด สาธารณสุข จะต้องลงไปดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 2.จนที่สามารถพัฒนาได้ (ด้วยตัวเอง) หรือยังพอมีศักยภาพที่จะพัฒนา เช่น เสริมความรู้ให้ ส่งเสริมอาชีพ หรือพัฒนาให้พออยู่พอกิน เหมือนปัจจุบันที่ไปพัฒนา เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม Sme บางคนมีที่ แต่ไม่มีทุน นี่แหละที่เราต้องเสริมให้ ฉะนั้นตัวเดินคือ อำเภอ จังหวัดคือ ตัวหนุน งบประมาณของรัฐมีหลายช่องทางมันสามารถบูรณาการได้ แต่เป้าหมายมันต้องชัด ไม่ใช่เอามาทำแต่ไม่ประเมิน เช่น เอาสัตว์เลี้ยงไปแจก แต่ไม่ประเมิน ชาวบ้านเบื่อก็เชือดทำแกงกิน เราต้องตามดู แนะตลาดให้เค้า

ฉะนั้น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความยากจน ของ ปัตตานี เราจะทำทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับบน ในเชิงที่เป็นนโยบายแบบทั่วไป เช่น การปศุสัตว์ การส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร การส่งเสริมเกษตรอินทร์ทรี นี่คือนโยบายทั่วไปที่ทำมาเฉพาะเจาะจง เป้าหมายประชาชนที่ยากจนชัดเจน เพราะต่อไปกลุ่มพวกนี้จะได้เป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ เป็นเกษตรกรส่งพืชสมุนไพรเข้าโรงพยาบาลได้ ถ้าตนไปนโยบายแบบกว้าง ๆ อย่างเดียว บางทีคนพวกนี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งตอนนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผู้ว่าเป็นกลไกของรัฐ หรือตัวแทนของรัฐบาล ฉะนั้นคนพวกนี้เราจะไม่ทิ้งเค้า แต่แค่เค้าขาดศักยภาพ เราจะต้องเสริมต้องให้เค้าได้ประโยชน์จากรัฐบาล ซึ่งเราตอบโจทย์ของรัฐบาลได้ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะพาเค้าไปด้วย” เราต้องสงเคราะห์ให้เค้าพึ่งหรือยืนอยู่บนขาตนเองได้ ฉะนั้นทุกคนทำอะไรต้องเป็นระบบ มีเป้าหมายสูงสุด เป้าหมายอาจจะไม่จบแค่ 1 หรือ 2 ปี แต่ก็ต้องทำงานให้เป็นเนื้องานชิ้นเดียวกัน ทุกคนต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน อย่าฝันว่า ต้องใช้เวลา มันไม่ได้ เราต้องเริ่มทำทันทีและเร็วด้วย ตนพูดตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า เดือนกันยายนไม่ใช่เดือนสิ้นสุดงบประมาน 2560 แต่ตนบอกข้าราชการทุกส่วนว่า “เราไม่ถือว่าเป็นเดือนสุดท้าย แต่ให้ถือว่า เป็นเดือนที่เราต้องออกวิ่งและไม่เดิน”

…วีรนันทร์ ย้ำว่า ปัตตานีที่มีปัญหามากมาย ไม่ว่าปัญหาความไม่สงบ และความยากจน เราเดินไม่ทันแล้ว เราต้องวิ่ง โดยเริ่มสตาร์ทวิ่งตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป วิ่งไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ เราจะประเมินทุกหน่วยงานทุก ๆ 3 เดือน ถ้าไม่ถึงเป้า ตนจะเรียกมาคุยกัน “อย่าพูดลม เพราะจะได้ลม”

#การแก้จน เป้าหมายหลักที่ผู้ว่าปัตตานีต้องแก้ปม เพื่อนำพาคนปัตตานีข้ามกำแพงความจนให้ได้ ลบสถิติอันดับต้น คือความจน ระดับประเทศ ผมได้นั่งคุยกับ ผู้ว่าวีรนันทน์ ที่ห้องทำงาน ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี สีหน้า หน้าตา บ่งบอกถึงความมุ่งมั่น เพราะปัตตานีคือบ้านเกิด……..

สุไลมาน @ชายแดนใต้ / รายงาน