แม่ทัพภาคที่ 4 ถกประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ให้ทุกคนอดทนลดความสูญเสียให้มากที่สุด ขณะเหตุการณ์ใต้ยังระอุ ดักบอมบ์ – ซุ่มยิง

0
417

แม่ทัพภาคที่ 4 ถกประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ต้องอดทนลดความสูญเสียให้มากที่สุด ขณะเหตุการณ์ใต้ยังระอุ ดักบอมบ์ และซุ่มยิง

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2565) เวลา 13.30 น. ที่ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซีเอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ เป็นประธาน การประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 พร้อมด้วย พลโท อุทิศ อนันตนานนท์ แม่ทัพน้อยที่ 4, พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พลตรี วรเดช เดชรักษา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข โดยการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกภาคส่วน โดยมี ผู้นำศาสนา, ผู้ทรงคุณวุฒิ, คณะทำงานประสานงานระดับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) ตลอดจนสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุม ก่อนร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งแก่แม่ทัพภาคที่ 4 อีกด้วย


ในขณะเดียวกันวันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าเกิดเหตุการณ์ดักวางระเบิดบอมบ์เจ้าหน้าที่ ยิงคนหาของป่า ดับ 1 เจ็บ 2 เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดนกดระเบิดบึ้มซ้ำอีก 1 ลูก เจ้าหน้าที่เสียชีวิตพลีชีพ 1 สาหัส 1 คือร.อ.ชินดนัย แร่ทอง นายทหารฝ่ายยุทธการ ฉก.นราธิวาส และ ส.อ.อภิสิทธิ์ หมัดสกุล พลขับ ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ชาวบ้านหาของป่าบาดเจ็บคือ .นายประดิษฐ์ สารวรรณ 44 ปี บ้านเลขที่ 62 หมู่ 1 ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และนายดำ เทพจันทร์ อายุ 61 ปี

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “คณะทำงานทุกคนเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเรามีคณะทำงานนี้มาตั้งแต่สมัยอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในปีนี้คณะทำงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่การทำงานของเรายังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้เรามาช่วยกันคิดเสนอแนวทางและรับทราบความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาในพื้นที่ของเราเอง กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้นคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ฝ่ายรัฐ นำมาปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและเป็นวิธีการที่บุคคลในพื้นที่ให้การยอมรับ เป็นความหวังของคนในพื้นที่ จุดมุ่งหมายของเราทุกคน คือ จะนำพาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สันติสุขให้ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อการดำเนินงานจะได้นำไปสู่จุดหมายปลายทางของสันติสุขในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เป็นสิ่งที่ตั้งใจตั้งแต่แรกว่าพยายามใช้ให้น้อยที่สุด แต่จะใช้การพูดคุยให้มากขึ้น เพื่อลดความรุนแรง และความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สำหรับการประชุมคณะประสานงานวันนี้ เราจะได้นำแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งต่อไป แม้วันนี้จะมีเหตุการณ์อีกที่นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสูญเสีย เพราะฉนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็ยังต้องมีอยู่ ในบางพิ้นที่ การใช้ความร่วมมือของประชาชนกับภาครัฐในบางพื้นที่ก็สำคัญ เราต้องช่วยกันลดความรุนแรง ช่วยกันสอดส่อง แล้วแจ้งข่าวให้เราทราบ แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยกันป้องกันผู้ที่จะมาก่อเหตุได้ ในการเข้าบังคับใช้กฎหมายนั้นเราจะใช้กำลังให้น้อยที่สุด สำหรับคนที่โดนซัดทอด ผู้ต้องสงสัย การเข้าตรวจค้น การเจรจา ต่อไปเราจะทำให้ดีที่สุด

ในวาระนำเสนอความคิดเห็นของคณะประสานงานระดับพื้นที่ล่าสุดวันนี้ ตัวแทนจังหวัดยะลา นำข้อมูลประเด็นการนำเสนอ ข้อเสนอสารัตถะ 3 ประเด็นความคิดเห็น ความกังวล ความคาดหวัง ที่มีต่อกระบวนการสร้างสันติสุข , การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับฟังที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด
สำหรับกลุ่มจังหวัดปัตตานี ขอเสนอประเด็น การส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์เยาวชนพุทธ_มุสลิม ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ
รายงานความคืบหน้าของงาน สล.3 ปัตตานี และการสร้างสภาวะที่เกื้อหนุนกระบวนการพูดคุย
สำหรับกลุ่มจังหวัดสงขลาประเด็นนำเสนอ แนวทางขับเคลื่อนในประเด็นสารัตถะ 3 ข้อ ที่ควรจะเป็นและประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาและการอยู่ร่วมกัน
และกลุ่มสมาพันธ์ไทยพุทธ ประเด็นการนำเสนอ ผลการหารือระหว่างแกนนำไทยพุทธกับฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ
จากนั้นมีการยื่นมอบเอกสาร รายละเอียดให้กับหัวหน้าคณะประสานงานด้วย

สำหรับการประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการพบปะ หารือ สร้างความคุ้นเคยกันระหว่างคณะประสานงานระดับพื้นที่ และฝ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชนที่มีต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจต่อประเด็นสารัตถะ ทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย ประเด็นการลดความรุนแรง , ประเด็นการปรึกษาหารือกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง เพื่อให้คณะประสานงานระดับพื้นที่นำไปขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังเป็นการนำข้อคิดเห็นมารวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำไปกำหนดเป็นประเด็นการพูดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างต่อไป

ทีมข่าว@ชายแดนใต้ ปัตตานี