พุธที่ 28 กันยายน 2565 ณ โถงกลางห้องสัมมนา ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี 2565 พร้อมกล่าวแสดงความยินดี และให้โอวาทแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ปี 2565 กล่าวรายงาน ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ปี 2565 คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมพิธี
จากนั้น เป็นการมอบรางวัล โดยรางวัลนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถานศึกษา มีผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโดยมีผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรม ประกอบด้วย รางวัลระดับดีเด่น รางวัลระดับดีมาก รางวัลระดับดี และรางวัลระดับชมเชย ดังนี้

รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย “ดีเด่น” ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 80,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : เรียนรู้รากเหง้าเข้าใจวิถีประชาธิปไตยแบบพอเพียง ทีม : จิตอาสาพัฒนาประชาธิปไตย โรงเรียนศรีหนองกาววิทยา จ.ขอนแก่น
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย “ดีมาก” ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 60.000 บาท ได้แก่ ผลงาน : โครงกรเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการใช้อัตลักษณ์ วิถีชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ทีม : โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จ.ภูเก็ต
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย “ดี” ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : Y.W. Public Mind Model จากจิตสาธารณะของนักเรียนสู่พลังสร้างสรรค์ชุมชนน่าอยู่ ทีม : คณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ได้แก่
1. ผลงาน : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทีม : โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม จ.สมุทรสาคร
2. ผลงาน : โครงการธนาคารแพะเนื้อ แบบเลี้ยงหวะ ทีม : มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง
3. ผลงาน : SKP RIGHTS Model ทีม : โรงเรียนสันกำแพง จ.เชียงใหม่
2. ประเภทชุมชน/ องค์กร มีผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา โดยมีผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรม ประกอบด้วย รางวัลระดับดีเด่น รางวัลระดับดีมาก รางวัลระดับดี และรางวัลระดับชมเชย ดังนี้
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย “ดีเด่น” ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 80,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : กระบวนการหารืออย่างสร้างสรรค์ในการจัดการความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้าน ทีม : สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จ.ปัตตานี
ผลงาน : การบริหารจัดการน้ำชุมชน ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทีม : หน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย “ดี” ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : ทะเลหมอกจาเราะกางา : การท่องเที่ยวเพื่อชุมชนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ทีม : โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ ) ร่วมกับชุมชนกาแป๊ะกอตอและจาเราะกางา จ.ยะลา
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ได้แก่
1. ผลงาน : นวัตกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยกับการท่องเที่ยวชุมชน ทีม : กลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้ จ.เลย
2. ผลงาน : ธรรมนูญตำบลน่าอยู่ ตำบลแค ทีม : ตำบลแค อำเภอจะนะ จ.สงขลา
3. ผลงาน : วัฒนธรรมนำสุข ทีม :สภาเด็กและเยาวชนตำบลเสาเภา และเครือข่าย จ.นครศรีธรรมราช

โอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวให้โอวาทแก่ ผู้ที่ได้รับรางวัล ความตอนหนึ่งว่า มีความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี พ.ศ. 2565 รอบชิงชนะเลิศ และขอแสดงความยินดีกับทุกทีมที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ซึ่งการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ถือเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้สังคมสนใจที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาชุมชนให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ สำหรับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยนี้เป็นองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในด้านการมีส่วนร่วม ที่จะทำให้สังคมมีความเข้มแข็งและเกิดสมดุลในทุกระดับ กล่าวคือ เป็นการจัดระเบียบการเมืองและสังคมที่ “เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” อย่างแท้จริง เพราะประชาชนเป็นผู้ริเริ่มขึ้นเอง ลงมือทำเอง และมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของประชาชนหรือชุมชนอย่างแท้จริง
โดยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ตำบล หรือหมู่บ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำกระบวนการประชาธิปไตยมาช่วยแก้ไขคลี่คลายปัญหา คำว่า กระบวนการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน มิได้หมายความเฉพาะการลงมติและต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมากเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมในระดับนี้เปรียบเสมือนประชาธิปไตยโดยตรงที่ทุกคนเข้ามามีสิทธิมีเสียงและร่วมแรงร่วมใจในการจัดการกับปัญหาของชุมชน ทราบว่าโครงการที่ส่งเข้าประกวดมีจำนวนไม่น้อยที่มุ่งแก้ปัญหาของชุมชนในลักษณะนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่สมควรได้รับการสนับสนุน แต่ควรเป็นแบบอย่างสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับกว้างกว่าในระดับชุมชน โดยเฉพาะ หากในระดับชาติ เราสามารถสร้างการมีส่วนร่วมและการร่วมมือร่วมใจเช่นในระดับชุมชน ทั้งการพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศของไทยก็จะก้าวไปได้ไกลอย่างแน่นอน จากผลงานที่ทุกท่านได้ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมคิดและร่วมขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในวันนี้ นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่งโดยเฉพาะในแง่ที่ดอกผลของกระบวนการประชาธิปไตยนำไปสู่ความสำเร็จและมีผลงานที่ยอดเยี่ยมเหมาะสมกับรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ เชื่อว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะในแง่ที่จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะในสถานศึกษา ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และภาคประชาสังคมต่าง ๆ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ปี 2565 และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ให้ความสำคัญ และการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการนี้
ทีมข่าว@ชายแดนใต้
