

ปัตตานี-เลขาธิการ ศอ.บต. ควง กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เยี่ยมให้กำลังใจเด็กภาวะโภชนาการต่ำ เผย!!!การพัฒนาคน คือกระดุมเม็ดแรกที่ต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสันติสุขสู่ จชต.
วันนี้ (2 กันยายน 2565) ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านประสานการมีส่วนร่วม) พร้อมด้วยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เพื่อพบปะและเยี่ยมเให้กำลังพร้อมชมการสาธิตการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กเล็ก โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพิเทน บัณฑิตอาสา ร่วมให้การต้อนรับ
จากนั้นดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นำคณะฯ เยี่ยมครอบครัวที่ประสบปัญหาทุพโภชนาการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 2 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 เด็กหญิงสุนิสา ละแมสะอั๊ด อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 114/1 หมู่ที่ 4 ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี อายุ 1 ปี 9 เดือน ซึ่งมีสภาพร่างกายแขนขาลีบ น้ำหนักน้อย เตี้ยแคระ ผอมไม่สามารถเดินและช่วยเหลือตนเองได้ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไปมีรายได้ 300/วัน ต้องเลี้ยงสมาชิกภายในบ้านทั้งหมด 7 คน แม่ไม่ได้ประกอบอาชีพ เนื่องด้วยมีโรคประจำตัว และจุดที่ 2 ครอบครัวเด็กหญิงมลาตี สะมะแอ อายุ 4 ปี 9 เดือน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 1 ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ป่วยเป็นโรคเวอร์เนอร์ซินโดรม มีพัฒนาการล้าช้า สภาพร่างกายผอมและเตี้ย ขาโก่ง กระดูกเปราะง่าย แต่สามาถช่วยเหลือตนเองได้เบื้องต้น อาศัยอยู่กับพ่อแม่โดยพ่อทำอาชีพรับจ้างประมงพื้นบ้านซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า สำหรับสภาพปัญหาที่ก่อให้เกิดสุขภาวะและทุพโภชนาการในเด็กเล็กส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยค่าใช้จ่ายในครอบครัว ที่มีรายได้ไม่เพียงพอในครอบครัว อีกทั้งไม่มีเวลาในการดูแล เพราะฉะนั้นการดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาวะและทุพโภชนาการในเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งทาง ศอ.บต.ได้เดินหน้าเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ได้นำเข้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ทุกภาคส่วนพร้อมเดินหน้าดูแลป้องกันตั้งแต่เด็กวัยเจริญพันธ์ุ และแม่มารดาตั้งครรภ์ เพื่อดูแลทั้งระบบ พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการต่ำในเด็กก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนด้านการศึกษา ต่อด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับครอบครัวต่อไป
ในโอกาสนี้ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงแนวทางการหนุนเสริมการพัฒนาของรัฐบาลว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาภาวะทุกโภชนาการต่ำของเด็ก เป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกมิติ และต่อยอดในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก เพราะปัญหาการขาดอาหารในเด็ก อาจจะแก้ไขได้ในส่วนหนึ่ง แต่ในระยะยาวต้องให้ครอบครัวมีอาชีพรายได้ที่มั่นคงด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงในพื้นที่ซึ่งมีบทบาทสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทางรัฐบาลเองก็มีนโยบายในการขับเคลื่อนอาชีพให้กับสตรีควบคู่กันไป
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการภายใต้มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อช่วยเหลือเด็กเล็ก 2 กลุ่ม ในพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 46,819 คน ได้แก่กลุ่มเด็กแรกเกิด – อายุก่อนครบ 2 ปี โดยจัดเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูรายเดือนคนละ 400 บาทต่อปี ๆ ละ 4,800 บาท จากยอดรวมกว่า 19,000 คน มีค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 92 ล้านบาท ระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี รวมวงเงินประมาณ 460 ล้านบาท และกลุ่มเด็กอายุครบ 2 ปี – ก่อนครบ 6 ปี โดยจัดเงินช่วยเหลือค่าอาหารเช่ารายเดือนคนละ 300 บาท ปีละ 3,600 จากยอดรวมกว่า 27,000 คน มีค่าใช้จ่ายปีละกว่า 99 ล้านบาท ระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี รวมวงเงินประมาณ 497 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินรวม MTV (Multivitamin) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายและสมอง ศอ.บต.จึงได้มีการจัดสรรเครื่องมืออุปกรณ์ในการติดตามพัฒนาการของเด็กตามเกณฑ์วัดผลด้านโภชนาการ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงานในชุมชน /หมู่บ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมปีละ 15.7311 ล้านบาท ต่อเนื่อง 4 ปี รวมงบประมาณ 62.9247 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาตามหลักโภชนาการ พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยควบคู่กับแก้ไขปัญหาสุขภาวะด้านโภชนาการต่ำของเด็กเล็กทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป



ภาพ/ข่าว/บดินทร์ ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ.ปัตตานี
