อดีต 77 ปี ญี่ปุ่นบุกปัตตานี ยุวทหารไทยพุทธ มุสลิม จีน ร่วมสู้รบ

0
1135

ญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี พ.ศ. 2488 ประวติศาสตร์โลก  นายมาโมรุ ชิเกะมึทซึ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และนายพลโยชิจิโร คุเมซุ หัวหน้าเสนาธิการทหารบก ลงนามในเอกสารยอมจำนน กับนายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพสัมพันธมิตร บนดาดฟ้าเรือรบมิสซูรี ของสหรัฐอเมริกา ที่ลอยอยู่เหนือน่านน้ำอ่าวโตเกียว ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

การยอมจำนนของญี่ปุ่นเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2488 กองกำลังสหรัฐฯ ยึดเกาะโอกินาวา ส่งผลให้ปฏิบัติการบุกรุกญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้น และจบลงหลังปรมาณูนิวเคลียร์ลูกแรก ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ตัดสินใจทิ้งนิวเคลียร์ ลงในเมืองฮิโรชิมาคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 140,000 ชีวิต และหลังจากนั้นอีก 3 วันระเบิดปรมาณูอีกลูกได้ถูกทิ้งลงในเมืองนางาซากิ ซึ่งพรากชีวิตผู้คนไปกว่า 70,000 ชีวิต

สำหรับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายอักษะ ซึ่งนำโดย เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอิตาลี กับฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดย สหราชอาณาจักร, สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา มีระยะเวลาเกือบ 6 ปี คร่าชีวิตทหารและพลเรือนไปกว่า 60 ล้านคน


ที่ประเทศไทยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก สมรภูมิทางภาคใต้ ตามแนวเขตทะเลอ่าวไทย หวังยึดประเทศตามเขตแหลมมลายูทั้งหมด ตั้งแต่ช่วงธันวาคม ปี 2484 โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน หลายจังหวัด ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ชุมพร พัทลุง และปัตตานี ญี่ปุ่นหวังเคลื่อนกำลังพลไปรบต่อที่มาเลเซียที่ยังเป็นเขตปกครองของอังกฤษในสมัยนั้น
ที่จังหวัดปัตตานี  การรบที่นับว่ารุนแรงสู้กันประชิดตัวก็คือ สมรภูมิบริเวณหน้าวัดนพวงษ์ ทหารไทยใช้ปืนกลหนักตั้งยิงบนรถบรรทุก ทหารญี่ปุ่นใช้เครื่องยิงลูกระเบิดถูกรถบรรทุกปืนกลหนักไฟไหม้ พลประจำปืนถูกไฟครอกเสียชีวิต กำลังทหารในหมวดร้อยตรีอุดม โสมะเกษตริน เข้ายึดคูน้ำข้างถนนคนละฝั่งกับญี่ปุ่น สาดกระสุนเข้าใส่กัน และยังสั่งให้ทหารติดดาบปลายปืนเตรียมลุยข้ามถนนเข้าตะลุมบอนกับญี่ปุ่น แต่หลังจากหยั่งกำลังข้าศึกแล้ว เห็นว่าญี่ปุ่นมีกำลังเหนือกว่ามาก จึงเพียงแต่ยิงยันไว้
ขณะนั้น พันตรีหลวงอิงคยุทธบริหาร ซึ่งศีรษะบาดเจ็บจากรถตกถนนก็ยังบัญชาการรบอยู่ตลอดระหว่างหมวดปืนกลหนักของร.ต.อุดมกับหมวดปืนใหญ่ของ ร.ต.เฉลียว สวามิวัสดุ์ จนกระสุนปืนกลของญี่ปุ่นถูกบริเวณโคนขาของผู้บังคับกองพันหลายนัด ล้มอยู่บนถนน ทหารในหมวดปืนใหญ่จึงออกไปนำตัวผู้บังคับกองพันลงมา พ.ต.หลวงอิงคยุทธฯ ยังสั่งทหารให้สู้ พร้อมกับตะโกนปลุกใจทหารตลอดเวลาขณะที่ถูกหาม ต่อมาร้อยตรีสง่า ศุภลักษณ์ ผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ได้นำตัวผู้บังคับกองพันส่งโรงพยาบาลปัตตานี แต่ พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหาร ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในคืนวันที่ 8 ธันวาคมนั้น ส่วน ร.ต.เฉลียว สวามิวัสดุ์ ก็ถูกยิงที่แขนบาดเจ็บสาหัส

สำหรับฝ่ายพลเรือนและยุวชนทหาร ข้าหลวงประจำจังหวัดได้แจ้งให้ พ.ต.ต.เจียร รังคะอุไร ผู้กำกับการตำรวจภูธร ทราบถึงการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นเมื่อเวลา 03.00 น.เศษ จึงใช้สถานีตำรวจกองเมืองเป็นศูนย์ป้องกัน โดยผนึกกำลังตำรวจกับยุวชนทหารยึดแนวแม่น้ำปัตตานีต่อต้านทหารญี่ปุ่น ผู้กำกับฯเห็นว่ากำลังญี่ปุ่นมากเกรงจะต้านไม่อยู่ จึงสั่งให้ ร.ต.ต.ประดิษฐ์ ศรสุชาติ ไปติดต่อขอกำลังฝ่ายทหารมาช่วย แต่ ร.ต.ต.ประดิษฐ์ไปไม่ถึงไหน ก็ถูกทหารญี่ปุ่นซุ่มดักยิงจนเสียชีวิต

ในเวลา 04.00 น.เศษ กำลังทหารญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนเข้าโอบศาลากลาง แต่ถูกยุวชนทหารต่อต้านอย่างเข้มแข็ง ญี่ปุ่นกระจายกำลังตั้งแต่ถนนเดชาจนถึงสะพานเดชานุชิต เพื่อเข้ายึดสถานีตำรวจกองเมืองที่เป็นศูนย์ป้องกันของตำรวจ แต่ถูกยุวชนทหารที่เชิงสะพานเดชานุชิตต้านทานอย่างเหนียวแน่นจนญี่ปุ่นไม่อาจรุกเข้ามาได้ ระหว่างการต่อสู้นั้นยังมีข้าราชการและประชาชนไปรวมตัวกันที่ศูนย์ป้องกันเพื่อขอร่วมในการต่อสู้ด้วย

การสู้รบดำเนินต่อไปจนถึงเวลา 11.00 น. โดยที่ญี่ปุ่นก็ไม่อาจรุกคืบหน้าได้ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็มีโทรเลขมาให้ฝ่ายไทยหยุดยิง ยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่าน การสู้รบจึงยุติ แต่ที่บริเวณอำเภอหนองจิกยังมีการยิงกันประปรายจนถึง 17.00 น.

สรุปการเสียหายของฝ่ายไทย ทหารเสียชีวิต 24 คน ตำรวจ 5 คน ยุวชนทหาร 5 คน ข้าราชการและประชาชน 6 คน รวมเสียชีวิต 40 คน  ในนี้มียุวชนทหาร ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และพี่น้องชาวจีน ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ยอมตายเพืรอชาติบ้านเมือง สถานที่ราชการและเอกชนเสียหายเป็นจำนวนมาก รถบรรทุกปืนกลหนักถูกยิงไฟไหม้ไป 1 คัน อาคารโรงทหารถูกญี่ปุ่นเข้าไปทำลายและค้นเอาทรัพย์สินออกไปใช้ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายทหาร รถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง

พันตรีหลวงอิงคยุทธบริหารได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และในปี 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามค่ายทหารที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ว่า “ค่ายอิงคยุทธบริหาร”

ส่วนความเสียหายของญี่ปุ่น บริเวณหน้าวัดนพวงษ์ ตายถึง 140 คน บาดเจ็บประมาณ 100 คน บริเวณอำเภอหนองจิก ตาย 30 คน บาดเจ็บ 20 คน


อ่านรายละเอียดได้ใน ญี่ปุ่นบุกปัตตานี สมรภูมิแห่งศักดิ์ศรี
http://www.chaidantai.com/?p=32132