ทวี ฯ เผย“ปริมาณไฟฟ้าสำรองปัจจุบันมาก 54% ผลักภาระให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพง แต่ผู้ขายกำไรรวยมหาศาล”

0
317


นายทวี สอดส่อง โพสในเฟสบุ้ค ล่าสุดว่า
จากการเปิดเผยของของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ม.ค-พ.ค.65 สรุปว่า “การจัดหาไฟฟ้า ‘กำลังการผลิตตามสัญญา’ ณ เดือน พ.ค. 2565 มีจำนวน 51,038 เมกะวัตต์หรือย่อหน่วยว่า MW (ซึ่ง 1 MW เท่ากับ 1,000,000 วัตต์) แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยทุกสาขาธุรกิจ (อาชีพ) สูงสุดอยู่ที่ 33,177 MW จึงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นเกินมาก (Reserved Margin) จำนวนสูงถึง 17,861 MW หรือประมาณ 54% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2565 ซึ่งในอดีตรัฐจะอ้างตัวเลขว่าปกติแล้วกำลังการผลิตจะเกินกว่าปริมาณการใช้แค่เพียง 15-17% ก็เพียงพอแล้ว แต่ในการชี้แจงของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในการชี้แจงประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 ระบุว่ามีปริมาณไฟฟ้าสำรอง 35% แต่ความจริงข้อมูลของกระทรวงพลังงานมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการใช้มากถึง 54% เพราะเกิดจากสัญญา (ไม่เป็นธรรม) บังคับให้รัฐซื้อจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าในราคาสัมปทาน ถึงไม่ใช้ก็ต้องซื้อ ซึ่งรัฐไม่ต้องรับผิดชอบเพราะผลักภาระส่วนเกินให้ประชาชนเป็นผู้เฉลี่ยจ่าย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริง



โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟเท่าไรรัฐก็ต้องซื้อหรือจ่ายค่าสำรองเครื่องจักรขั้นต่ำ แม้ความสามารถผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไปมาก สำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชนนำไปจ่าย และรัฐได้ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาค่อนข้างแพงโดยมีอายุรับซื้อถึง 25 ปี ทำให้เอกชนที่ขายไฟให้รัฐบาลมีกำไรมาก ๆ ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบรัฐซื้อไฟฟ้ากับเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าเป็น 2 ส่วน คือ ค่า ADDER ที่เอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและผลักภาระเป็นค่าไฟให้ประชาชนที่เรียกว่าค่า FT พบว่าสัมปทานกับเอกชนบางสัญญาในช่วงแรก ๆ ได้ค่า ADDER ราคา 8 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงและค่าไฟพื้นฐาน 3 บาท ทำให้รัฐบาลซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนในราคาแพงที่บางสัญญาราคาสูงประมาณ 11 บาท ก็มี ส่วนไฟฟ้าที่รัฐบาลผลิตเองประมาณ 30% โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะมีต้นทุนราคาถูกมาก ๆ เช่น พลังงานไฟฟ้าจากเหมืองถ่านหินแม่เมาะ (ต้นทุน 1.60 บาท)
.
บริษัทที่ขายไฟฟ้าให้รัฐบาลจะมีกำไรร่ำรวยเป็มอัครมหาเศรษฐีภายในเวลาไม่กี่ปี จากข้อมูลของบริษัทที่มีสัมปทานขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาล ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บางบริษัท อาทิ
.
-บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย โดยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนต่อมาได้ขยายธุรกิจลงทุนในหุ้นอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีทุนจดทะเบียน 11,733 ล้านหุ้น ราคาในตลาดหลักทรัพย์ตอนเข้าจดทะเบียนตอนแรกในปี 2560 อยู่ที่ 10 บาท เท่ากับมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) เท่ากับ 117,330 ล้านบาท ต่อมาราคาหุ้นขึ้นไป 52.75 บาท ทำให้มูลค่าเพิ่มมาเป็น 618,915 ล้านบาท หรือคิดเป็นความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 ล้านบาท (ภาพแสดงราคาหุ้น)
.
-บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และต่อมามีการพัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียน 3,730 ล้านหุ้น ราคาในตลาดหลักทรัพย์ตอนเข้าจดทะเบียนตอนแรกในปี 2556 ก่อนรัฐประหารเพียง 1 ปี อยู่ที่ 5.95 บาท เท่ากับมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเท่ากับ 22,193 ล้านบาท ต่อมาหลังรัฐประหารได้ขึ้นไปสูงสุดที่ 105.50 บาท หรือพุ่งขึ้นมาเป็น 393,515 ล้านบาท หรือมั่งคั่งขึ้นมามากถึง 371,322 ล้านบาท (ภาพแสดงราคาหุ้น)
.
จากที่ดูข้อมูล นักวิเคราะห์ยังคงให้ราคามูลค่าหุ้นของทั้งสองบริษัทตามกำไรจากธุรกิจหลัก คือ การผลิตไฟฟ้า ส่วนการขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เป็นเพียงการเล่นข่าวที่มีผลต่อราคาในช่วงสั้น ๆ กล่าวโดยสรุปราคาหุ้นเป็นการสะท้อนผลประกอบการที่มาจากการได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยเอกชน จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยได้อย่างก้าวกระโดด และสามารถขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รัฐกำหนดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และดิจิทัล เป็นต้น
.
“พลังงานไฟฟ้า” เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชน การที่รัฐซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแบบให้สัมปทานเอกชน รวมกันมากถึง 59% และนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 11% รวมรัฐการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมากถึง 70% ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศวางหลักการไว้ชัดเจนว่า กรณี สาธารณูปโภคกำหนดให้สัดส่วนการผลิตของรัฐต้องไม่น้อยกว่า 51% (มาตรา 56 วรรคสอง) แต่การที่รัฐผลิตไฟฟ้าเองเพียง 30% จึงน้อยกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด (ขาดอีก 21%) ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
.
ไฟฟ้าที่ซื้อจากเอกชน (70%) และที่รัฐผลิตเอง (30%) รัฐนำมาถั่วเฉลี่ยราคากันแล้วขายไฟฟ้าให้ประชาชน อัตราค่าไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้งาน ตัวอย่าง การขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
.
อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
-15 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1 – 15) หน่วยละ 2.3488 บาท
-10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16 – 25) หน่วยละ 2.9882 บาท
-10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26 – 35) หน่วยละ 3.2405 บาท
-65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36 – 100) หน่วยละ 3.6237 บาท
-50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101 – 150) หน่วยละ 3.7171 บาท
-250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) หน่วยละ 4.2218 บาท
-เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท
.
อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน
-150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1 – 150) หน่วยละ 3.2484 บาท
-250 หน่วยต่อไป ( หน่วยที่ 151 – 400 ) หน่วยละ 4.2218 บาท
-เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

แต่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ ‘ไม่มีมิเตอร์ถาวร หรือสถานะมีทะเบียนบ้านชั่วคราว’ หรือประเภทที่ 6 ที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว รัฐขายไฟฟ้าใน ราคา 6.8025 บาท/หน่วย ที่คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำ ยากไร้ ยากจน จะอาศัยในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเองและรัฐจะออกบ้านเลขที่ชั่วคราวให้

การปล่อยให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองปัจจุบันมากถึง 54% เป็นต้นทุนส่วนเกินที่คำนวณเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่อาจสูงถึง 2-4 แสนล้านบาทต่อปี (จากพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกว่าแสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง) ที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนจ่ายปีละมากกว่าแสนล้านบาท โดยประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น การไม่แก้ไขปัญหาแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่สนใจความเหลื่อมล้ำ นำเงินจากประชาชนมาให้บริษัทผู้รับสัมปทานรัฐผ่านค่าไฟฟ้าจนทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศตกต่ำมากถึงมากที่สุดบริษัทโรงไฟฟ้าที่ขายไฟให้รัฐยังมั่นคงมีกำไร แต่ประชาชนประสบวิกฤติต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงถูกเอารัดเอาเปรียบ
.
ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงค่าไฟฟ้าขาขึ้นและมีแนวโน้มจะไปถึง 5-6 บาทต่อหน่วยในอนาคตอันใกล้ตามข่าวเนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงแพงขึ้นจากสถานการณ์โลก และ ความผันผวนของค่าเงินบาท (เงินบาทอ่อนค่าเป็น 37 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ แล้ว) ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในครัวเรือน (Residential Solar Rooftop) หรืออุตสาหกรรม และ รับซื้อไฟที่เหลือให้เยอะขึ้น พร้อมจัดการให้ขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนลดต้นทุนค่าไฟได้ เนื่องจากผลิตไฟเองใช้เอง ที่สำคัญรัฐต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคให้ได้สัดส่วน 51% ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยด่วนด้วย

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ

https://www.facebook.com/100044231363886/posts/pfbid0ZNCXDmBiqzBFwBAS655FahX4TETbcLQ4QSZQAhCGTVpxqiwEWtrbd2FndScuQPZ9l/