สิ้นแล้วครูหมอตำนานโนราห์ชื่อดังระนอง ลูกหลานรำหน้าศพน้ำตานองเกาะโลง ร้องไห้ระทม

0
5664

สิ้นแล้วครูอำนวย ครูหมอโนราห์ชื่อดังระนอง ภรรยาโนราห์แจ่มศรี หลังจากกลับจากทำการแสดง ถึงกับเกาะโลงศพ ร่ำไห้ พร้อมลูกหลานชาวมโนราห์ บ้านบางสองรา ต.บางใหญ่ อ.กระบุรี จ.ระนอง ก่อนจะมีพิธีรำแสดงความอาลัย โดยจะบำเพ็ญกุศลศพที่บ้านเลขที่ 45 ม.1 ต.บางใหญ่ อ.กระบุรี จ.ระนอง และทำการฌาปนกิจ ที่เมรุวัดจันทาราม อ.กระบุรี ในเวลา 12.00 น.วันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค.60

จังหวัดระนอง ได้สูญเสีย ครูหมอมโนราห์ชื่อดัง นายอำนวย บุญญฤทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ ที่ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา และเคยกล่าวไว้ว่า จะเป็นศิลปินจนสิ้นดาบขาดใจ แม้ว่าขณะนี้จะกลายเป็นคนพิการเสียแล้ว ตาบอดทำอะไรไม่ค่อยได้เสียแล้ว แต่ยังรักและยังสั่งสอนลูกหลาน ให้ทำตามศิลปินซึ่งเป็นสมบัติชาวใต้ของเรา ในหลวงพระองค์ท่านทรงเป็นห่วงหนักหนาว่า ศิลปวัฒนธรรมให้ช่วยกันรักษากันไว้

โดยผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบ แม่ แจ่มศรี บุญญฤทธิ์ ศิลปิน มโนราห์อาวุโส วัย 78 ปี ภรรยาของครูหมอ อำนวย บุญญฤทธิ์ ที่ได้พาลูกหลาน ชาวมโนราห์ ออกไปทำการแสดงรำแก้บน ให้กับชาวบ้านในเขตพื้นที่ อ.เมืองระนอง ก่อนจะรู้ข่าวร้ายจึงได้เดินทางกลับ พบว่าลูกหลานมีการบรรจุร่างไว้ในโลงศพสีขาว ที่หน้าบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โนราห์แจ่มศรี ถึงกับผวาเข้าเกาะและเคาะที่โลงศพ พร้อมร้องไห้พรรณนาทั้งน้ำตาว่า “พี่นวยไม่น่าไปเร็วแบบนี้ อยู่กันมาตั้ง 30 กว่าปี ไม่น่ารีบจากกันไป และขอให้ไปอยู่ที่สุขที่สุข นะพี่นวย “ ก่อนจะบอกให้ลูกหลาน ไปบอกลากับพ่อเฒ่าครูหมออำนวย ให้ไปสู่สุขคติ

หลังจากนั้น บรรดาลูกหลานชาวมโนราห์คณะแม่แจ่มศรี บุญญฤทธิ์ ได้ร่วมกันรำโนราห์ ทั้งน้ำตา เพื่อแสดงความอาลัย ต่อหน้าโลงศพครูหมอ มโนราห์ นายอำนวย บุญญฤทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ ของจังหวัดระนอง

โนราห์แจ่มศรี บุญญฤทธิ์ กล่าวว่า พี่อำนวย แกได้เป็นศิลปิน จนสิ้นดาบขาดใจของแกจริง พร้อมกับสั่งเสียก่อนเสียชีวิตว่า น้องแจ่ม ถ้าพี่จากไปแล้วพยายามอย่าทิ้งมโนราห์ เราอยู่มาได้ก็มาจากมโนราห์ฉะนั้นต้องเก็บไว้ให้เป็นสมบัติและสืบทอดไปยังลูกหลาน อย่าให้ศิลปะศิลปินภาคใต้ของเราสูญหายไป

ส่วนที่มาของคณะมโนราห์ในจังหวัดระนอง และเป็นตำนานสุดท้ายของมโนราห์ เดินรำค่ำไหนนอนนั้น คุณยาย สมนึก พิบูลย์ วัย 82 ปี พี่สาวคนโต ของ โนราห์แจ่มศรี บุญญฤทธิ์ เป็น 1 ในบุตร 8 คน เล่าว่า ได้รับการถ่ายทอด ศิลปะการรำ โนราห์ ตั้งแต่วัย 2-3 ขวบ จากบิดา หรือมโนราห์กระจ่าง พิบูลย์ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เวลาจะไปทำการเปิดการแสดง ก็จะหอบหิ้วสัมภาระกับชาวคณะ เดินกันเป็นแถวยาวตามถนน และเปิดการแสดงไล่ตั้งแต่ ออกจากบ้าน อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ขึ้นมา จ.สุราษฎร์ธานี ,จ.ชุมพร จนมาถึง อ.กระบุรี จ.ระนอง ค่ำไหนนอนนั้น ได้ค่าแสดงเพียงไม่กี่บาท แต่ชาวบ้านดูแล ปูเสื่อ เลี้ยงข้าวปลาอาหาร และไปนอนตามวัดต่างๆตลอดเส้นทางที่เดินไปทำการแสดง จึงเป็นที่มาของคำว่า โนราห์เดินรำ สมัยถนนหนทางยังไม่ลาดยาง ไม่มีรถยนต์ประจำทางวิ่งสัญจร ต้องใช้เกวียน หรือการเดินเท้า จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อไปทำการแสดงแบบค่ำไหนนอนนั้น จนหัวหน้าคณะหรือ โนราห์กระจ่าง ได้มาปักหลัก และตั้งครอบครัว พร้อมชาวคณะที่ บ้านบางสองรา ต.บางใหญ่ อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีป่า และผู้คนมีอัธยาสัยไมตรีที่งดงาม ให้ปักหลักสร้างโรงมโนราห์ขึ้น จนถึงปัจจุบัน

ภาพ/ข่าว จ.ส.อ.กฤษดา เอกวานิช @ชายแดนใต้ จ.ระนอง