ปัตตานี -ชาวบ้านกัดฟัน ทำนาดั้งเดิมรักษาพันธ์ข้าวหายาก นักวิจัยฯ ลงพื้นที่หาทางแก้ปัญหาหวั่นสูญพันธ์

0
447


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ยังเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาข้าว เพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงเดือนรอมฎอน ที่มีชาวบ้าน เกษตรกรยังคงปลูกข้าวอยู่กระจัดกระจายกันไปทั่วหลายอำเภอใน จ.ปัตตานี ตั้งแต่ อําเภอโคกโพธิ์ มายอยะหริ่ง หนองจิก สายบุรี ปะนาเระ และบางส่วนของอําเภอเมือง รวมๆแล้วหลายร้อยไร่ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังคงรักษาอาชีพดั้งเดิมตลอดมา มีทั้งนาปี กับ นาปรังรวมแล้วหลายพันไร่ แต่บางคนต้องหยุดทำนา และหันไปทำด้านเกษตรกร การทําสวนยางพารา และสวนผลไม้มากขึ้น เพราะชาวบ้านมีความคิดว่าการทํานา นั้นกว่าจะได้เงินสดต้องใช้เวลาหลายเดือน อีกทั้งบางคนก็เจอกับปัญหาการจัดการน้ำ เมื่อฝนตกเยอะ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากอีก ซึ่งสาเหตุเกิดจากการสร้างถนนที่ยกพื้นสูง และปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือการทําคันดินตามแนวคลองชลประทาน ทําให้พื้นที่นาไม่สามารถระบายน้ำเข้าท้องนาได้อีกต่อไป เพราะในฤดูทํานาก็จะเกิดน้ำท่วมขังมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้นาหลายร้อยไร่ในจังหวัดปัตตานีต้องกลายเป็นนาร้าง

ส่วนชาวบ้านที่ยังยึดอาชีพทำนา ต้องทนกัดฟันสู้ทำนาต่อไป เพราะยังคงต้องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดังเดิมอยู่ แต่ปัจจุบันคนทำนาลดลง และข้าวบางชนิดก็สูญหายไปแล้ว พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวท้องถิ่น ได้แก่ เล็บนก กระเฮาะ ปาดีกุนิง นาตู เวาะห์ฮีแต เวาะปูเตะ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ ดั้งเดิมของพื้นที่ และมีพันธุ์อื่นใหม่ๆปน เช่น หอมกระดังงา มือลอ (มะลิ) ซึ่งที่ยังคงทำอยู่นั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาไว้ทานเอง และชาวบ้านยังรอความหวังให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วย ต่อยอดให้ชาวบ้านที่ทำนามีอาชีพมีรายได้เลี้ยงครอบครัว


ล่าสุดด้านนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ได้ลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำการตรวจพื้นทีนาร้าง และแก้ปัญหาให้กับชาวนา
อจ.อสมา มังกรชัย จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ เราได้ทุนจากทาง สสส.จัดทำโครงการ”เกษตรชุมชนเพื่อการเกษตรอินทรีย์เพื่อฟื้นฟูนาร้างและความมั่นคงทางอาหาร หลังเหตุการณ์โควิด 19″ มีการช่วยเหลือ เกื้อกูลชาวบ้าน 2-3 อย่าง คือช่วยชาวบ้านฟื้นฟูนาร้าง ต่อมาคือให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ โดยอันนี้เรารวมกลุ่มชาวบ้าน ให้ทุกคนเต็มใจเข้ามาทำ และ 3 คือสำรวจทรัพยากรความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ เตรียมหาช่องทางช่วยเหลือให้ชาวนามีรายได้ เพื่อพัฒนาสายพันธ์พื้นเมืองที่หายาก ให้ยังมีอยู่ และช่วยไม่ให้สูญพันธ์อีกด้วย หวังให้คนที่เคยทำนากลับมาทำนาอีกครั้ง โดยไม่ปล่อยให้นาถูกทิ้งร้าง เราได้มีการจัดส่งเสริมความรู้ให้ชาวบ้าน และจัดกิจกรรมฉลองข้าวใหม่ จัดนิทรรศการแสดงเมล็ดพันธุ์ข้าวหายากในพื้นที โดยเชิญให้ภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาชม เข้ารับฟังปัญหา เช่นการจัดการน้ำ ปัญหา ปล่อยน้ำเสียทิ้งของโรงงาน เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน และอื่นๆ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ร่วมกันต่อไป

ทีมข่าว@ชายแดนใต้