Bis Meal ยกระดับตำรับอาหารใหม่ เพื่อสุขภาพ เชิงสร้างสรรค์ งานวิจัยอาหารท้องถิ่นจากราชภัฏยะลา

0
688
“เช้าชาม เย็นชาม” นิทรรศการอาหารเพื่อสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ แบรนด์ Bis Meal งานวิจัยภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา พร้อม 15 เมนูคาวหวาน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้งหน้าตา รสชาติ แพกเกจ ขยายสู่สาธารณะ

Bis Meal การรังสรรค์เมนูอาหารพื้นถิ่นไปสู่การเป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ โดยการเลือกวัตถุดิบที่มีความเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการใช้เครื่องปรุงที่มีประโยชน์เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย BiS Meal มาจาก Bismillah เป็นวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมก่อนจะรับประทานอาหารจะกล่าวคำว่า bismillah เป็นคำพูดที่ใช้ในการขอบคุณพระเจ้าของมุสลิม รวมถึงแง่ของการขอบคุณที่ได้อาหารที่ดีคือ Best Ingredients in Southern Border Provinces of Thailand ถือว่าเป็นการคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุด จากวัตถุดิบท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มานำเสนอให้ผู้บริโภคในรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพเชิงสร้างสรรค์
โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกัน ทั้งนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหาร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร นักโภชนาการ นักออกแบบ นักการตลาด รวมถึงนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากเมนูที่คุ้นเคยทั้งอาหารคาวและหวาน ถูกรังสรรค์ขึ้นใหม่จากฝีมือของเชฟ 10 รายในพื้นที่ที่ เน้นวัตถุดิบคุณภาพที่มีในท้องถิ่น และประโยชน์ต่อสุขภาพ


โดยเมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2565 มรภ.ยะลา ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โชว์งานวิจัยประจำปีงบประมาณ 2564 เรื่องการพัฒนาและยกระดับตำรับอาหารเพื่อสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ โดยคว้าถ้วยรางวัลระดับ Bronze Award จากการเข้าร่วมจัดนิทรรศการในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ” (Thailand Research Expo 2021) และรางวัล Regional Research Expo and Inventors’ Day 2021 Award ระดับ Gold Award ในมหกรรมงานวิจัยและวันนักประดิษฐ์ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564 ด้วยนิทรรศการ “เช้าชาม เย็นชาม” อาหารเพื่อสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ณ Melayu Living ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินีเพ็ญ มะลิสุวรรณ อาจารย์มีนา ระเด่นอาหมัด ตัวแทนนักวิจัยจากมรภ.ยะลา พร้อมแขกผู้เกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้
ไก่ฆอและ แกงขี้เหล็กปลาย่าง นาซิดาแฆ น้ำสลัดลาวา น้ำสลัดรอเยาะ ปลาย่างสมุนไพร กราบูซือเป๊ะ ทาโก้เมี่ยงปลานิล เป็นตำรับอาหารคาวที่นำวัตถุดิบในพื้นที่ที่นำมาใช้เช่น กล้วยหิน ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่น และเป็นสินค้าขึ้นชื่อของบันนังสตา ยะลา ปลานิลเบตง ปลานิลที่ผ่านการเลี้ยงด้วยน้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ส่วนเมนูถือที่ต่อยอดจากอาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมตำรับของหวานและทานเล่น เช่น ลาดูไดฟูกุ ทาร์ตอาเก๊าะ ข้าวตังข้าวยำ คนทีชีสเค้ก ซาบาซีเรียล ตูปะซูตง งานนี้ใช้เครื่องปรุงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น มันมะกอก น้ำมันรำข้าว กะทิธัญพืช แป้งข้าวพื้นบ้าน เกลือชมพู ธัญพืช น้ำตาลหญ้าหวาน หากคงชูอัตลักษณ์ทั้งกลิ่น รสชาติ ของวัตถุดิบดั้งเดิม
แต่ละเมนูมีการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมด้วยการแบ่งโทนสี ใช้โทนสีน้ำตาลหรับอาหารคาว โทนสีสดใสกับของหวาน ลวดลายจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผ้ามัดย้อมสีมาลาจากยะลา การจักสานของกระจูด จากนราธิวาส เน้นให้สะดวกต่อการรับประทาน และง่ายต่อการขนส่งอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินีเพ็ญ มะลิสุวรรณ ตัวแทนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า สำหรับผลงานวิจัยนี้เป็นอีกส่วนสำคัญในการยกระดับอาหารพื้นถิ่นชายแดนใต้ที่ใกล้จะสูญหาย เพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นกับชุมชนและท้องถิ่น โดยการคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 15 ตำรับ โดยให้อาหารเป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรม

เลขา เกลี้ยงเกลา / ทีมข่าว@ชายแดนใต้ ปัตตานี