นราธิวาส – ทีมสส.พรรคประชาชาติ ติดตามปฎิบัติการเหตุวิสามัญ 2 ศพ ชี้ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ลดความสูญเสีย

0
1031
    เมื่อวันที่ 30 มกราคม 65 ที่บ้านบาโงระนะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.เขต 4 นราธิวาส ,นายกูเฮง ยาวอฮาซัน สส.เขต 3 นราธิวาสได้ลงพื้นที่ติดตาม และสังเกตการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมบ้านพักของบุคคลเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคง 2 คน ทราบชื่อคือนายอับดุลฮากัม อาแว และนายมะตอฮา ยูนุ ที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง เช่นเดียวกับนายนายมูฮัมหมัดรุสดี เชค ฮารูน รองโฆษกพรรคประชาชาติ ซึ่งเข้าติดตามตั้งแต่เมื่อวานนี้ หลังมีข่าวว่าเกิดการยิงปะทะกันตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 28 มกราคม 2565 จนล่วงเลยมาถึงวันที่ 29 มกราคม 2565  เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง

นายกูเฮง ยาวอฮาซันกล่าว ในเพจตนเองว่า วันนี้ผมพร้อม ส.ส. กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ และทีมงานในพื้นที่ได้ไปเยี่ยมครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ ในวันนี้เพื่อให้กำลังใจพร้อมสอบถามข้อเท็จจริง จากพื้นที่เกิดเหตุที่เป็นข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง อาจจะแตกต่างไปจาก ข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆอีกทั้งได้พูดคุยเพื่อให้ทราบบริบทแวดล้อม โดยเฉพาะครอบครัวของผู้สูญเสีย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีความรับผิดชอบที่เขต3 พื้นที่ก่อเหตุก็เป็นพื้นที่รับผิดชอบโดยตรงของผม สิ่งสำคัญการลงพื้นที่นอกจากมาให้กำลังใจให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว จะต้องนำปัญหาที่ได้จากพื้นที่จริงๆนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อหาแนวทางในการปฎิบัติในอนาคต อาทิ เช่น เมื่อเกิดการก่อเหตุวิสามัญการลำเลียงศพเพื่อญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาให้อยู่ในครรลองของศาสนา คือไม่เกิน24 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้อาจจะมองเป็นสิ่งเล็กๆ แต่สำหรับพี่น้องในพื้นที่เป็นเรื่องใหญ่มากเนื่องจากกระทบต่อจิตใจอย่างมาก


เรื่องการนำเสนอข่าวโดยนำครอบครัวของผู้สูญเสียออกสื่อแถลงข่าวกับเจ้าหน้าที่ที่วิสามัญลูกชาย มันกระทบจิตใจ อย่างมาก ทราบข่าวว่า หนึ่งคนที่ถูกวิสามัญภรรยากำลังตั้งครรภ์ 4 เดือน ลูกที่กำลังจะเกิดในอีก5เดือนข้างหน้า กำลังจะกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เกิด ในอิสลามบอกว่า ลูกคือ ริซกี (สิ่งที่อัลลอฮฺประทาน) เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เราจะต้องช่วยกันดูแลเด็กกำพร้า ต้องมีมาตรการดูแลที่ชัดเจน ของเด็กกำพร้าที่กำลังจะเกิดให้เป็นเด็กที่เติบโต เป็นเด็กที่ไม่มีข้อบกพร่อง ใดๆ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ของทุกคนในสังคมนี้
สิ่งเหล่านี้ ผมจะต้องนำไปหารือในที่ประชุมพรรคประชาชาติและจะนำข้อสรุป นำเสนอ รัฐสภา ต่อไป

  นายมูฮัมหมัดรุสดี กล่าวว่า ได้ไปพูดคุยกับครอบครัวของนายอับดุลฮากัม อาแว หนึ่งในผู้ที่ถูกทหารพรานวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ด้านหลังสำนักงานเทศบาลตำบลมะรือโบตก โดยบิดา มารดา และภรรยา ของนายอับดุลฮากัมอยู่ในอาการตกใจและเศร้าเสียใจหลังทราบว่าทั้งสองได้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำศพออกมาได้ และร้องขอให้รีบนำศพออกมาประกอบพิธีทางศาสนา ผมจึงได้ช่วยเจรจากับพันเอกอิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ครอบครัวและสื่อมวลชนได้เข้าไปดูสภาพบ้านและสภาพของผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุก่อนที่จะนำร่างออกมา และรีบนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา แต่ถูกปฏิเสธให้รอรับศพที่โรงพยาบาล

นายมูฮัมหมัดรุสดี ได้ร่วมพูดคุยกับผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานฯ และครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานฯกล่าวขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เกิดความสูญเสียขึ้น ซึ่งตนได้พยายามใช้การเจรจาให้มอบตัวแล้วแต่ไม่เป็นผล โดยชี้แจงว่าฝ่ายความมั่นคงมีกำลังและอุปกรณ์พร้อมที่จะจัดการให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง แต่ไม่ทำ ยังเปิดโอกาสให้ออกมามอบตัว
ภรรยาของทั้งสองคนที่อยู่ในบ้านด้วยกันก่อนถูกปิดล้อม เป็นพยานปากสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งภรรยาบอกว่าทั้งสองคนให้ออกจากบ้านมาก่อนเพื่อความปลอดภัยของเธอ แต่เมื่อเธอออกมาก็มีกระสุนปืนยิงเข้ามา ไม่ทราบว่ามาจากทางไหน เธอหลบกระสุนปืนที่สาดใส่ และเริ่มมีการต่อสู้กัน ซึ่งผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานฯ พยายามชี้แจงว่าเป็นกระสุนที่ถูกยิงออกมาจากข้างในบ้าน จึงยิงปะทะกันไปมา และการเจรจายังคงดำเนินต่อไปให้ออกมามอบตัวโดยให้ตัวแทนผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และครอบครัวเจรจา แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งมีเสียงระเบิดดังขึ้นสองครั้ง ก่อนที่เสียงปืนจะสงบลงในช่วงเวลาประมาณ 11.30 น. ซึ่งเชื่อว่าทั้งสองคนน่าจะเสียชีวิตแล้ว ตำรวจชุดพิสูจน์หลักฐานจึงเข้าพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ
เวลาประมาณ 15.00 น. เริ่มมีญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและประชาชนในพื้นที่ มารวมตัวกันที่ปากทางเข้าที่เกิดเหตุ เพื่อร้องขอให้รีบนำศพออกไปประกอบพิธีทางศาสนา ตามหลักการศาสนาอิสลามต้องประกอบพิธีฝังศพให้เสร็จก่อนครบ 24 ชั่วโมงของการเสียชีวิต ซึ่งขณะนั้น ได้ครบ 24 ชั่วโมงของการปะทะกันแล้ว ชาวบ้านจึงเริ่มแสดงอาการไม่พอใจ และสงสัยว่าเหตุใดถึงยืดเยื้อเวลา ไม่รีบนำศพออกมาจากที่เกิดเหตุ จนกระทั่งเวลา 16.00 น. รถพยาบาลทหาร ได้นำศพผู้เสียชีวิตออกมาจากจุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลระแงะ เพื่อพิสูจน์ศพ ขณะนั้นชาวบ้านได้ตะโกนอัลลอฮุอักบัร เป็นคำกล่าวสรรเสริญพระเจ้า และมีมวลชนจำนวนมากตามไปที่โรงพยาบาลด้วย ทหารพรานได้ควบคุมประตูทางเข้าโรงพยาบาล โดยไม่อนุญาตให้ใครเข้าโรงพยาบาลได้ในขณะนั้น และต่อมาเวลา 18.00 น. รถกู้ภัยจากมูลนิธิอาสากู้ภัย ได้นำศพทั้งสองคนเคลื่อนไปที่กุโบร์ โดยนำศพนายมะตอฮา ยูนุ ไปที่กุโบร์บ้านแคนา ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส และนำศพนายอับดุลฮากัม อาแว ไปที่กุโบร์บ้านอาแว ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อประกอบพิธีฝังศพ โดยไม่อาบน้ำศพตามแนวทางแบบชะฮีดหรือผู้พลีเพื่อแนวทางศาสนา ซึ่งมีผู้คนมาร่วมกันเคารพศพจำนวนมาก ขณะเคลื่อนศพไปที่กุโบร์ มีการตั้งแถวยืนตรงตะเบ๊ะทำความเคารพศพคล้ายทหาร ผู้คนต่างตะโกนสรรเสริญพระเจ้าเสียงดังไปตลอดทางที่มุ่งหน้าสู่กุโบร์ การประกอบพิธีฝังศพเสร็จสิ้นในเวลา 19.00 น.


แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เหตุใดถึงไม่ยินยอมให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพในบริเวณที่เกิดเหตุ มีการขึงตาข่ายพลาสติกสีดำป้องกันไม่ให้มองเห็นข้างใน และไม่ยินยอมให้มีตัวแทนอิสระจากภาคส่วนต่างๆเข้าสังเกตการณ์ แม้เหตุการณ์จะสงบลงแล้ว ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะปฏิบัติการทางทหารภายใต้กฎอัยการศึกที่ทหารมีอำนาจพิเศษ ต้องสามารถตรวจสอบกระบวนการทำงานได้ ซึ่งหากการทำงานโปร่งใส ไม่มีอะไรหมกเม็ดหรือปกปิด ต้องยินยอมให้มีตัวแทนองค์กรอิสระเข้าสังเกตการณ์เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน และสำคัญอย่างยิ่งคือเพื่อความสบายใจของพี่น้องประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ไว้ใจทหาร
นายมูฮัมหมัดรุสดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ว่าทำไมผู้คนถึงยกย่องสรรเสริญต่อผู้เสียชีวิต หากย้อนไปดูประวัติของผู้เสียชีวิตทั้งสองจะเห็นได้ว่าเขาเป็นนักสู้ ที่ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารเสมอมา เขาไม่ใช่โจรที่ไปปล้นขโมยทรัพย์สินใคร แต่เขาสู้กับกองกำลังของรัฐ ซึ่งต้องถามทุกคนว่า เขาสู้ทำไม? ในมุมของฝ่ายความมั่นคงอาจเรียกเขาว่า ‘โจร’ แต่ในมุมของประชาชนเขาคือ ‘ผู้พลี’ ที่สละชีวิตต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและมาตุภูมิ

ทีมข่าว@ชายแดนใต้