ใครหลายๆคนที่เคยผ่านถนนที่บริเวณหอนาฬิกาสายบุรี ย่อมต้องสะดุดตากับอาคารหลังหนึ่งเรือนสีขาวทั้งหลัง ที่ตั้งตระหง่านโดดเด่น มีรูปทรงที่แปลกตา สวยงาม เรือนหลังนี้ผ่านกาลเวลามาแสนยาวนาน ใครคือเจ้าของ? ทำไมจึงถูกเรียกว่าวังพิพิธภักดี แล้วใครบ้างเล่า ที่รู้ที่มาที่ไปของเรือนหลังนี้
แต่เดิมเรือนหลังนี้เป็นที่อยู่ของ พระพิพิธภักดี (ตนกูมุกดา อับดุลบุตร) ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของ พระพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง กับ ตนกูซง หลานสาวของ พระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี เจ้าเมืองสายบุรี เมื่อสมัย 7 หัวเมือง

พระพิพิธภักดีได้มาหลงรัก ตนกูซง นั้น บิดาของพระพิพิธภักดี ไม่เห็นด้วยเพราะขณะนั้น เมืองยะหริ่งกับเมืองสายบุรีมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลงรอยต่อกันนัก
แต่พระพิพิธภักดีก็ไม่ยอมแพ้ จนในที่สุด ท่านสามารถแต่งงานกับตนกูซงจนได้ ท่านจึงได้สร้างเรือนพิพิธภักดีหลังนี้ เพื่อแยกเป็นเรือนหอส่วนตัว จนต่อมานานๆเข้า ด้วยที่ตั้งที่โดดเด่นสุดท้ายจึงถูกเรียกขนานนามว่าเป็นวังพิพิธภักดี วังอีกหลังหนึ่งของเมืองสายบุรีในที่สุด
เรือนหลังนี้ เป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้นยกพื้นใต้ถุนไว้ใช้งานตามแบบฉบับวิถีชีวิตคนมลายู ช่างท้องถิ่นเป็นผู้สร้างโดยนำศิลปะแบบตะวันตกและศิลปะของท้องถิ่นมาผสมผสานกันคือ มีหน้ามุขแบบตะวันตกที่โดดเด่นสวยงาม บันไดหน้าทรงโค้ง ลูกกรงบันไดเป็นลายปูนปั้นรูปดอกไม้ สวยงามมาก เป็นการออกแบบที่ลงตัว
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของวังพิพิธภักดี คือ ผนังกั้นห้องภายในอาคารเป็นผนังโค้งอิทธิพลศิลปะตะวันตก มีช่องลมเป็นลวดลาย พรรณพฤกษาอิทธิพลศิลปะชวาและมลายู
จากเรือนคหบดีชั้นอีลีต ได้ถูกเปลี่ยนมือสู่อาคารทรงคุณค่าสาธารณะประโยชน์ในมือของพลังสตรีมุสลิมมะห์

ปัจจุบันได้มีการดูแลตกแต่งวังหลังนี้ให้คงอยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ที่คงความงดงามอย่างสมบูรณ์แบบในปัจจุบัน แต่กว่าจะเป็นวังพิพิธภักดีในวันนี้นั้น มันเคยถูกทิ้งร้างมานานมาเกือบ 40 ปี เพราะทายาทเจ้าของเดิมได้ขายออกไปเปลี่ยนมือไปแล้ว
ซึ่งต่อมา”กลุ่มสตรีสายบุรี” คือผู้ที่จัดหาและระดมทุนทรัพย์เพื่อจ่ายหนี้ซื้อวังเก่าพิพิธภักดี ในวงเงิน 10.5 ล้านบาทจากเจ้าของคนไทยเชื้อสายจีน โดยหวังว่าต้องการอาคารของชมรมเพื่อจะจัดให้เป็นสถานที่สาธารณประโยชน์ ตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้อิสลาม เปิดให้องค์กรต่างๆได้จัดกิจกรรม พร้อมกับเป็นการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ให้กลับมาเป็นสมบัติของคนสายบุรีเช่มดั่งเดิม
นางวราภรณ์ ภัทราธิกุล หรือกะรอฟีอะห์ แกนนำชมรมมุสลิมะห์สายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นแกนนำในการจัดหาทุนซื้อวังพิพิธภักดีนี้เล่าว่า เรือนหลังนี้ถูกทิ้งร้างมานาน จนกระทั่งเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วมีคนเข้าไปจับจองและมีการออกโฉนดที่ดินในที่ตั้งของวัง ต่อมามีการซื้อขายเปลี่ยนเจ้าของไปหลายรุ่น ก่อนจะตกเป็นของคนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอสายบุรี ต่อมา เจ้าของไม่ได้ใช้งาน จึงได้ประกาศขาย ทางชมรมมุสลิมะห์สายบุรีเห็นว่า วังพิพิธภักดีเป็นวังเก่าที่อยู่คู่เมืองสายบุรีมานาน หากนายทุนซื้อไปก็อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือสภาพอาคารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ได้ชื่นชมอีกต่อไป และเนื่องจากถูกตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ประกอบกับทางชมรมต้องการหาสถานที่จัดกิจกรรม จึงตัดสินใจซื้อวังนี้เพื่อใช้จัดกิจกรรมและยังช่วยอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในที่สุดทางชมรมมุสลิมะห์สายบุรี ได้ติดต่อขอซื้อวังนี้มาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ในราคา 10,500,000 บาท โดยใช้เงินยืมจากมัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี รวมทั้งยืมเงินซากาตของมัสยิด เงินสมาชิก เพื่อนพ้อง และ ชาวบ้านในตลาดสายบุรี รวมถึงคนนอกพื้นที่ เป็นผลสำเร็จ ไม่ได้ใช้เงินกู้หนี้ยืมสิน แม้แต่บาทเดียว โดยทางชมรมได้ระดมจัดงาน จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และด้วยความสามัคคีการรวมกลุ่มอย่างแข็งขัน เป็นที่น่าเหลือเชื่อที่ทางชมรมมุสลิมมะห์ สามารถคืนเงินยืมทั้งหมด ได้ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น
Areefeen hagi-hasan
นักออกแบบเครื่องประดับท้องถิ่น
