ปัตตานี – ปัญหาโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานียกขึ้นมาอีกรอบ หลังไม่คืบหน้าร่วม 8 เดือน

0
773

ผู้สื่อข่าวรายงาน จากปัญหาชุมชนรอบอ่าว 8 ตำบล 3 อำเภอ จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเมกะโปรเจ็ค 644 ล้านบาท เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากโครงการขุดลอกอ่าวฯนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว (จากงบประมาณการขุดลอกอ่าวฯ ในปี 2559 เริ่มดำเนินการปี 2560 เสร็จสิ้น2561) และเมื่อจบโครงการขุดลอกไปแล้วนั้น ซึ่งปรากฎว่า เกิดมีปัญหาผลกระทบอื่นๆตามมา เช่น เกิดสันดอนทราย ปัญหาสัตว์ทะเลน้อยลง ระบบนิเวศฯเปลี่ยนแปลง และอื่นๆ
ตลอดปีกว่าได้ผลลัพท์ที่ตรงกันข้าม จากปัญหาดังกล่าวนั่นเอง เมื่อเดือนมกราคมปี 2564 สส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัดได้ถือปัญหานี้เป็นประเด็นร่วมกัน นำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาหาทางแก้ปัญหาอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปนำสู่แผนนโยบายการแก้ปัญหาในที่สุด
และหลังจากนั้นได้เกิดปัญหาสถานการณ์ผลกระทบโรคระบาดโควิด 19 ซ้ำเติมเข้ามาอีก จึงทำให้ปัญหานี้ถูกหยุดนิ่ง ชะลอลงไปเป็นระยะเวลาร่วม 8 เดือนแล้ว

ล่าสุดวันนี้09.30 น.ที่มูลนิธิฮัจญีสุหลง โต๊ะมีนา อ. เมือง จ.ปัตตานี พล.ท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมคณะ เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชุมหารือ ร่วมมือกันพบปะพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหา ของพี่น้องชาวปัตตานีอีกครั้ง พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ,กรมเจ้าท่า,คณะวิจัยแก้ปัญหา และพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเลอ่าวปัตตานี,นักวิชาการ,สื่อมวลชนและตัวแทนชาวบ้าน เข้าร่วมกว่า 50 คน

ทั้งหมดได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาทั้งหมดให้ได้โดยเร็วที่สุด ได้แก่ เรื่องปัญหาเกิดการตื้นเขิน หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า ‘ปัญหาสันดอนทราย’ รวมถึงปัญหาชาวบ้านใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฏหมาย ซึ่งเรียกกันว่า”ไอ้โง่” ในอ่าวปัตตานีซึ่งได้นำ และผบกระทบอื่นๆ ปัญหาทั้งหมดได้นำเข้ามาพิจารณากันในวันนี้
จากนั้นได้เดินทางไปลงเรือที่ท่าเรือสะพานไม้บานา เดินทางโดยเรือเพื่อดูสันดอนทรายขนาดใหญ่ของอ่าวปัตตานี อยู่ในเขต ตำบลตะโละสะมีแล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จากนั้นได้ประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ห้องประชุมบ้านไม้รีสอร์ท บูดี แหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี


ภายหลังประชุมเสร็จแล้ว พลโทเกรียงไกรศรีรักษ์แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวเพิ่มว่า หลังจากที่ได้พูดคุยและมารับฟังปัญหาด้วยตัวเองนั้น ทราบว่าปัญหาจากสันดอนทรายอยู่หลายจุด วันนี้ได้มารับฟังปัญหาและก็รับรู้รับทราบเพื่อที่จะนำไปสู่การประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆอาจจะได้นำไปสู่การปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้มีการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้วจากคณะทำงาน โดยคณะทำงานได้ศึกษาจากปัจจัยหลายๆด้านมาผนวกกันจนกระทั่งพบปัญหา แล้วนำไปสู่การประสานงานหน่วยงานต่างๆ ก็ได้เข้ามาแก้ไขในส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะขับเคลื่อนในการดำเนินการต่อไป จากการพูดคุยกับชาวบ้านในเบื้องต้นนั้นชาวบ้านอยากให้มีการขุดลอกสันดอนทราย ให้เร็วที่สุด ซึ่งทางเราได้มีการสร้างความเข้ากับชาวบ้านว่า จะรีบดำเนินการให้เร็วแต่อาจจะต้องใช้เวลาบวกกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้นมีอุปสรรคเกี่ยวกับเรื่องลมฟ้าอากาศด้วย ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้กับส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาติดตามการคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายมะรอนิง สาและ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ตนและขาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยึดอาชีพประมงเป็นหลักเพื่อหาเลี้ยงชีพ โดยยึดวิธีการแบบดั้งเดิมเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งภายหลังจากที่มีขุดลอกอ่าวปัตตานี และปลายแหลมที่ยื่นออกมาทำให้ปากอ่าวแคบลง น้ำไม่มีการระบายเข้า-ออกเหมือนเดิม ภาวะน้ำนิ่งเกิดตะกอนและน้ำตื้น ประกอบกับมีสันดอนทรายเกิดหลายจุดทำให้เกิดอุบัติเหตุกับชาวประมงในหลายๆครั้งช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงของชาวประมงขนาดเล็ก และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยขณะนี้ทางกรมเจ้าท่าฯ และเจ้าหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขุดลอกสันดอนทรายในอ่าวปัตตานี ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ โดยจะนำดินที่ขุดไว้มาสร้างเป็นสนามฟุตบอลตามความต้องการของประชาชน หลังจากที่ได้ทำประชามติในห้วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และเร่งติดตามดำเนินการแก้ไข ตนในฐานะประชาชนในพื้นที่ยังคงยืนหยัดที่จะยึดอาชีพประมงควบคู่กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ให้คงสภาพที่อุดมสมบูรณ์ให้มากที่สุด เชื่อว่าในอนาคตหากทุกอย่างลงตัวที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน