กลุ่ม กทส.จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ข้ามชุมชนศาสนา “สันติภาพชุมชนในศรีลังกา: ถักทอสายสัมพันธ์พุทธ ฮินดู และมุสลิม” กุญแจสู่สันติ

0
644

กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.)ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามชุมชนศาสนาในหัวข้อ “สันติภาพชุมชนในศรีลังกา: การถักทอสายสัมพันธ์พุทธ ฮินดู และมุสลิม” โดยมีวิทยากร 3 ท่านที่มีประสบการณ์ในการทำงานถักทอความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนทางศาสนาในศรีลังกา คือ Most.Ven. Walatara Sobhita Thero ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวสิงหล ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาศาสนสัมพันธ์เพื่อสันติภาพแห่งศรีลังกา เขต Galle นางสาว Sinthuja Shanmuganathan ผู้ประสานงานจากศูนย์เพื่อการสร้างสันติภาพและความปรองดองชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดู และผู้นำศาสนาอิสลาม และ Mohamed Firthous อดีตผู้ร่วมขบวนการต่อสู้ชาวมุสลิมที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างชุมชน  มีกลุ่มคนทำงานสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก


การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นจุดเด่น นำมาเป็นบทเรียนได้ในงานเสวนาครั้งนี้ คือ การที่อดีตผู้ร่วมขบวนการต่อสู้ที่เป็นมุสลิมหัวรุนแรงได้เล่าถึงจุดพลิกเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเมื่อเขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมสานเสวนาระหว่างศาสนาในปี ค.ศ.2009

แต่ครั้งแรกที่เขาเข้าไปร่วมนั้นก็เพียงเพราะว่าอยากจะไปสังเกตการณ์ว่ากลุ่มศาสนาอื่น ๆ ที่เขาสานเสวนากันอยู่นั้นเขาทำอะไรกันเท่านั้นไม่ได้สนใจอยากจะไปเข้าร่วมขบวนการด้วยแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านั้นเขากำลังเตรียมกลุ่มเยาวชนของเขาจำนวน 2-300 คนเพื่อจะแก้แค้นเอาคืนชาวทมิฬที่เคยทำร้ายผู้นำทางศาสนาและมุสลิมคนอื่น ๆ ในชุมชนของเขามาก่อน ทว่าเมื่อ Firthous ได้เข้าไปร่วมกระบวนการสานเสวนาแล้วก็ได้เรียนรู้วิธีที่จะฟังอย่างลึกซึ้งฟังอย่างเข้าใจ (deep listening) ได้รับฟังความรู้สึกของคนอื่นที่สูญเสียและเจ็บปวดจากสงครามกลางเมืองและผลพวงของความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอื่น ๆ เหมือนกัน ทำให้เขาได้เข้าใจความเจ็บปวดของคนอื่น และเริ่มตระหนักว่าก่อนหน้านั้นที่เขาอ่านและตีความคำสอนทางศาสนาว่าอนุญาตให้เขาใช้ความรุนแรงต่อคนศาสนาอื่นได้นั้นเขาได้ย้อนกลับไปอ่านกุรอานใหม่และพบว่าในคัมภีร์กุรอานนั้นเต็มไปด้วยคำว่า “สันติภาพ” “ความเมตตา” “ความรัก”และ “การให้อภัย” การทบทวนตัวเองในครั้งนั้นเปลี่ยนตัวเขาเองไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือเปลี่ยนอคติที่เขาเคยมี เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาที่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงในการตอบโต้กับผู้ที่เคยทำร้ายคนในชุมชนของเขา และทำให้เขามุ่งมั่นทำงานด้านการสร้างสันติภาพระหว่างชุมชนในศาสนาที่เคยขัดแย้งกัน และร่วมในขบวนการป้องกันความขัดแย้งรุนแรงที่จะอาจจะเกิดขึ้นจากความแตกแยกในสังคมศรีลังกาที่ไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้งผิวเผินเท่านั้น หากแต่เป็นความขัดแย้งแตกแยกที่ลงลึกไปในระดับจิตใจของผู้คนที่แตกต่างกันด้วย


เรื่องราวของ Mohamed Firthous กลายเป็นประเด็นที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ในสังคมศรีลังกายังไม่ได้สงบลงอย่างสิ้นเชิงและยังคงเป็นความท้าทายของคนทำงานสันติภาพระหว่างชุมชนอยู่มาก หากแต่วิทยากรจากศรีลังกาทั้งสามเห็นพ้องกันว่าพวกเขาไม่อยากเห็นการหลั่งเลือดในประเทศของเขาอีกแล้ว ดังนั้น พลังของศาสนาและความศรัทธาเชื่อมั่นในการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (conflict transformation) เท่านั้นที่จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างลงลึกถึงในระดับจิตวิญญาณ

สำหรับ กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวพุทธที่ก่อตั้งขึ้น ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยการสนับสนุนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ และศูนย์ความมั่นคงศึกษา สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ณ เมืองซูริค (ETH)  มีวัตถุประสงค์จะสร้างความเข้มแข็งให้ชาวพุทธกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดนใต้และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนต่างศาสนาโดยใช้การสานเสวนาศาสนา (Religious dialogue) เป็นเครื่องมือสำคัญ และ การนำตัวอย่างบทเรียนจากกระบวนการสร้างสันติภาพ ในศรีลังกา จะมาใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับบริบทของชายแดนใต้ จะเหมือนกรือแตกต่างได้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่กลุ่มคนที่ดำเนินการ ทำงานด้านสันติภาพ ยังท้าทายและต้องทำงานหนักต่อไป

ขอบคุณ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์
อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพ จากเดอะเพน