จริงหรือ? ในประเทศไทย มีความนิยมเลี้ยงนกเขาชวา มานานกว่า1,000ปี

0
1553

ความนิยมในการเลี้ยงนกเขาชวาในประเทศไทยนั้นมีมานานกว่า 1,000 ปี มีหลักฐานปรากฏทางจิตรกรรมฝาผนังศิลาแรงที่ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทหินพิมาย ณ เมืองนครราชสีมา เมืองเอกภาคอีสานสมัยโบราณ เป็นรูปเคหาเรือนยกพื้นไม้กระดาน หลังคามุงแฝกด้วยต้นหญ้าคาเครื่องทรงบนเป็นไม้ไผ่ ที่ชายคาบ้านมีกรงนกเขาเป็นกระบอกไม้ไผ่ฝ่าเจียกเป็นซี่กรง ส่วนบนหัวกรงยังดูเป็นไม้กระบอกชัดอยู่ ครั้นในสมัยต่อมา๑๐๐ ปีก่อน คือสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลักฐานทางลายลักษณ์อักษร สิ้นซากไปอีกเพราะถูกพม่าเผาเมือง ต่อมาในสมัยกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และในมีสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ปกครองแผ่นดินนั้น พระองค์ท่านทั้งสองพระองค์ได้เชิญผู้รู้ในเรื่องนกเขาชวามารวบรวมเป็นตำรับตำราเกี่ยวกับนกเขาชวาเพื่อรักษาไว้ ซึ่งประเพณีนิยมอันมีมาแต่โบราณนั้นให้คงไว้ต่อมาจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯลฯ รัชกาลที่ 9 ตามหลักฐานสมุดข่อยสีดำอักษรสีขาวเป็นคำกลอนและรูปนกซึ่งยังคงรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติแห่งหนึ่ง และที่พระพิพิธภัณฑสถาน กรมศิลปากร อีกแห่งหนึ่ง และอีกเล่มหนึ่งเป็นของพระสมุหลาโหมแม่ทัพไทย เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต รวมทั้งของบรรดามุในราชอาณาจักรไทย เช่นที่เมืองปัตตานี นครศรีธรรมราชก็มี เมืองเพชรบุรีและที่หัวเมืองฝ่ายเหนือที่นครเชียงใหม่ก็มี ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดต่อกันมาในปัจจุบัน ต่างก็ส่งมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ กันอยู่เสมอมา ข้อความล้วนเป็นคำกลอน

จากพระตำรับในรัชกาลที่ 4 มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ตัวใดสกุณาหางเอโกมาแต่เมืองละโว้มหาสถาน เป็นราคามากมายหลายประการ ตามอาจารย์ว่าไว้ในวิธี ถ้าผู้ใดเลี้ยงไว้ในเคหา จะมียศถาล้ำเลิศประเสริฐศรี อันโภคาไหลมา

ตั้งวารี จะเป็นที่ผาสุกทุกคืนวัน” คำว่าเมืองละโว้เป็นนามเมืองเก่า ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชื่อเมืองลพบุรี ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 4๐๐ ปีมาแล้ว นี่เป็นหมายเหตุ หลักฐานอีกประการหนึ่งว่า คนไทยนิยมการเลี้ยงนกเขาชวามาแต่โบราณกาล

ความนิยมในการเลี้ยงนกเขาชวานี้นิยมกันเป็น 2 สถาน นกลักษณะ 1.ให้คุณตามตำราสถานหนึ่ง 2.เลี้ยงเพื่อฟังเสียงอันไพเราะอีกสถานหนึ่ง ปรากฏว่าดั้งเดิมมานั้นทั้งประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศบรูไนในเกาะบอเนียว 6 ประเทศซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเวลานี้ ก็มีความนิยมเลี้ยงนกเขาชวานี้เหมือน ๆกัน แต่ทางประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศบรูไนยังคงมีความนิยมอย่างธรรมดาตามชนบท ไม่ถึงขั้นมีการแข่งขันเสียง และประกวดนกลักษณะให้คุณตามตำรา เหมือน 4 ประเทศ ที่กล่าวนามตอนต้น สำหรับนกลักษณะให้คุณตามตำรา กรงเลี้ยงนกเขาชวา และด้วยข้าวถ้วยน้ำนกที่เรียกว่าถ้วยถมปัด ซึ่งทำไว้เมื่อก่อน 50  ปี เหล่านี้นั้นมีการประกวดเฉพาะในประเทศไทย และมาเลเซีย

เรียบเรียงจากหนังสือ เคล็ดลับการเลี้ยงนกเขาชวา โดย ประกอบ วรรณประเสริฐ  ตีพิมพ์ 2528