ปัตตานี-กรมประมง จับมือ ซีฟเดค เปิดตัว “เรือประมงอวนล้อมจับ เทคโนโลยีใหม่ทุ่นแรง” สู้วิกฤตขาดแคลนแรงงานประมง

0
346

 วันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ ท่าเทียบเรือประมง องค์การสะพานปลา จังหวัดปัตตานี นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อร่วมงานเปิดตัวเรือประมงอวนล้อมจับลำแรกที่เข้าร่วม โครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการใช้แรงงานบนเรือประมงอวนล้อมจับ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมง ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีฟเดค) สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานีและเจ้าของเรือที่เข้าร่วมโครงการ (คุณสุรัตน์ รัตนศิธร) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังภาคประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤติ โดยมี นายพงศ์เทพ ไข่มุขด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีกล่าวรายงานและให้การต้อนรับ

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการแรงงานภาคประมงกว่า 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงภัยสูง แรงงานในกิจกรรมประมงทะเลจึงมีจำนวนน้อย กรมประมง ซีฟเดค สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และเจ้าของเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ จึงได้ร่วมมือกันหาแนวทางในการลดการใช้แรงงานบนเรือประมงอวนล้อมจับ และลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงเครื่องมือในการทำประมง บนพื้นฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในทะเล


โดยล่าสุดได้มีการนำร่องทดลองใช้เครื่องกลทุ่นแรงบนเรือประมงอวนล้อมจับที่ชื่อว่า น. ลาภประเสริฐ 8 เป็นลำแรก ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาด 91.71 ตันกรอส ทำการประมงในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย โดยปกติต้องใช้แรงงานในการทำประมงจำนวนมากถึง 30 คน/ลำ/เที่ยว แต่เมื่อได้นำเครื่องกลทุ่นแรงในการทำประมงอวนล้อมจับระบบไฮดรอลิกส์ เช่น เครน และ Powerblack สำหรับผ่อนแรงในการกู้เก็บอวน รวมถึงระบบทำความเย็นสำหรับการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำมาใช้ ผลปรากฏว่า สามารถลดแรงงานในการทำประมงลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยประหยัดต้นทุนค้าจ้างแรงงานได้จำนวนมาก และในกรณีที่ใช้แรงงานต่างชาติยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาคุณภาพความสดของสัตว์น้ำจนถึงผู้บริโภค จำหน่ายได้ราคาดี รวมทั้งยังประหยัดต้นทุนการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำได้ถึง 50% เลยทีเดียว
และในวันเดียวกันนี้ อธิบดีกรมประมง ยังได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยัง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เพื่อชมวิถีการทำประมงพื้นบ้านที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยสนับสนุนการทำประมงเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบ อาทิ การจัดทำธนาคารปูม้า การสร้างเขตอนุรักษ์ทรัพยากร และการห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือที่ผิดกฎหมายทุกชนิด เพื่อสร้างความมั่งคงให้ทรัพยากรได้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ภาพ/ข่าว บดินทร์ เบญจสมัย ทีมข่าว@ชายแดนใต้ ปัตตานี