หาดใหญ่ – ศปบ.จชต.เร่งพัฒนาครู เรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)สร้างสัมพันธภาพอันดีในสังคมพหุวัฒนธรรม

0
726

นายณัฏฐ์พัชร์ ศรีสังข์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 เป็นประธานพิธีเปิด การอบรมพัฒนาครูส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายูถิ่น) โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2, ข้าราชการครู, บุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบุคลากรศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 250 คน จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายแนวทางขับเคลื่อนการบูรณาการรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผ่านกระบวนการของกิจกรรมและโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญ คือ การสร้างทัศนคติและแรงจูงใจให้แก่ผู้เรียนให้มีความมั่นใจในการสื่อสารด้วยภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น การพัฒนาศักยภาพการสอนของครูในทุกระดับ และเร่งรัดการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นชาติไทย ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น เพื่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และหลักศาสนาที่ถูกต้อง กำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเป็นชาติและสังคมพหุวัฒนธรรม โดยส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาที่มีศักยภาพและความพร้อม

โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายูถิ่น) และสอดคล้องกับจำนวนคาบเรียนและบริบทของพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านภาษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ รวมทั้งมีการกำหนดนโยบายการพัฒนาการใช้สื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องและตรงตามความต้องการตามนโยบายการส่งเสริม
การจัดกิจกรรมภาษาต่างประเทศที่ทันสมัย และนโยบายการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาไทย ภาษามลายูถิ่น ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมครั้งนี้ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ


1เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้ภาษาไทย – มลายู ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และบริบทของชุมชนเชื่อมโยงการเรียนรู้วัฒนธรรมเจ้าของภาษาและสามารถติดต่อสื่อสารในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกได้
2 เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในประชาคมอาเซียน
3 เพื่อบูรณาการและพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนระบบสองภาษา(ไทย – มลายู) ในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
ภายในงานมีการบรรยายการผลิตสื่อ, แบ่งกลุ่มปฏิบัติการและแบ่งกลุ่มปฏิบัติการสาธิตจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายูถิ่น) ได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ และข้าราชการครู จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1
นายณัฏฐ์พัชร์ ศรีสังข์ กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์ตามนโยบายด้านการศึกษาในครั้งนี้ มุ่งหวังให้นักเรียนมีทักษะการอ่านออกเขียนได้และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเพิ่มขึ้น นักเรียนสามารถใช้ภาษาต่างประเทศในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสร้างสัมพันธภาพอันดีในสังคมพหุวัฒนธรรม ช่วยให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละเชื้อชาติ อันจะนำไปสู่การสร้างความสามัคคีเพื่อสันติสุขของคนในชาติและเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ

ทีมข่าว @ชายแดนใต้