ยะลา-บิ้กเดฟ แถลงจับยานรก-แก้ไฟใต้ ย้ำมาถูกทางแล้ว พร้อมโชว์โมเดล camp 35 แก้ยาเสพติดใต้ 14 จังหวัด

0
448

วันนี้ 16 ก.ค.62 เวลา 9.30 น. ที่ห้องประชุมยะลารวมใจ ศปก.ตร.สน. อ.เมือง จ.ยะลา พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.รมน.ภาค 4 พร้อมด้วย พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมแถลงสรุปผลการปฏิบัติด้านความมั่นคงและยาเสพติดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ไตรมาส 3 (เม.ย-มิ.ย. 62) และสรุปสถานการณ์เหตุการณ์ความมั่นคง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 เภอของจังหวัดสงขลา พร้อมทั้งตรวจของกลาง ยาเสพติดที่ได้จากการจับกุม และอุปกรณ์ ปืน เครื่องยิงกระสุน และของกลางที่ได้จากการติดตามจับกุมในคดีความมั่นคง โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทหาร ตำรวจ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ เข้าร่วม


พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงและยาเสพติดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้าและตำรวจภูธรภาค 9

ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนด้านการควบคุมพื้นที่ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหายาเสติดด้วยการขับคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม บูรณาการการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งกำลังประจำถิ่น และภาคประชาชนมาช่วยดูแลหมู่บ้าน ชุมชนและใช้ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ และ ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน รวม 775 ชุดปฏิบัติการ เข้าปฏิบัติงานในหมู่บ้านร่วมกับผู้นำ 4 เสาหลัก ทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัย เพื่อกดดันจำกัดเสรีผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ให้ใช้หมู่บ้านเป็นแหล่งพักพิง ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และความเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐที่เข้มแข็ง ทำให้สถิติเหตุการณ์ในคดีความมั่นคงลดลงจากปี 61กว่าร้อยละ 35.18 ถือว่าสถานการณ์ในภาพรวมมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้ CAMP 35 เป็นโมเดลในการบำบัดทั้งร่างกายจิตใจสังคม และชุมชนบำบัด พบว่าร้อยละ 70 สามารถเลิกขาดจากยาเสพติดได้ นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยจะนำโมเดล CAMP 35 ไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดต่อไป เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว

ด้าน พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้กล่าวว่า คดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเทียบกับปี 2561 พบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ไตรมาสที่ 3 มีคดีความมั่นคงเพียง 115 คดี คดียาเสพติดสามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 4,709 คดี ผู้ต้องหา 5,256 คน สามารถตรวจยึดทรัพย์สินได้กว่า 56,930,565 บาท ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ดำเนินงานตามนโยบายอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม


ด้าน พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้แถลงผลการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาในพื้นที่ ภาคใต้การกำกับดูแลของ ศอ.บต. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่พร้อมทั้ง สาธิตการลงทะเบียนซิม 2 อัตลักษณ์ในพื้นที่ เป็นการแสดงตนสำหรับผู้ที่ใช้บริการในพื้นที่ จชต. (1 2 แชะ อัตลักษณ์) โดยในการดำเนินการดังกล่าวไม่มีการแอบถ่าย เพราะผู้ที่จะต้องลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองมาแสดงกับผู้รับจดทะเบียน จากนั้นผู้รับจดทะเบียนจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายรูปหน้า ระบบจะเปรียบเทียบหากตรงกันก็จะลงทะเบียนและสามารถใช้ได้ในพื้นที่ โดยที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ปัจจุบันผู้ก่อเหตุรุนแรงก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการอีก โดยใช้โทรศัพท์ของบุคคลต่างด้าวแทนซึ่งตรวจพบจากการปิดล้อมขนำพื้นที่จะนะแล้วเกิดเหตุปะทะคนร้ายหลบหนี ตรวจสอบพบอาวุธปืน และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจดทะเบียนโดยบุคคลต่างด้าวชาวพม่าเมื่อสืบสวนเกี่ยวกับชาวพม่าดังกล่าวเคยมีการจดทะเบียนซิมการ์ด จำนวน 9 เบอร์ โดยกำลังสามฝ่ายจะได้ติดตามสืบสวนกรณีดังกล่าวต่อไป จะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่ 3 กำลังสามฝ่ายได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและมีผลการปฏิบัติจำนวนมาก เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ในการช่วยกันสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแส จนทำให้มีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมดังที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนได้ช่วยกันสอดส่องและแจ้งข่าวมายังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อจะลดเหตุการณ์ ความมั่นคงใน จชต.ต่อไป

ภาพ/ข่าว มะรูดิง ตีโด ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ. ยะลา