ปัตตานี – ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่นวัตกรรม

0
734

วันที่ 12 กรกฎาคม  นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดปัตตานี ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมี นายวาทิต มีสนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้,นายโชคดี ศรัทธากาล รองศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี,รองสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานีเขต 1 ,ผู้บริหารสถานศึกษา ประธานกรรมการสถานศึกษา,บุคลากรทางการศึกษา,บุคลากรศูนย์ประสานงานและบริหารจชต. เข้าร่วม 75 คน ณ ห้องมหารานี โรงแรม เซาท์เทิร์นวิว


กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธาน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน และบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ เป็นกรรมการและเลขานุการ และศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งในส่วนของจังหวัดปัตตานี ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และได้จัดให้มีการประชุมขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดปัตตานีขึ้นในวันนี้ ตามวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างความรู้ความเข้าใจพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562 แก่สถานศึกษาและกรรมการสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ,เพื่อให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดปัตตานีและ เพื่อให้โรงเรียนได้ร่วมกันพิจารณานวัตกรรมการศึกษาที่จะนำมาใช้ในการจัดการศึกษาต่อไป


ซึ่งที่ประชุมได้ ศึกษาการทบทวนนโยบายพื้นที่นวัตกรรม  ศึกษาข้อกฎหมายตาม พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562
และ การจัดทำข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนในโครงการ และ การคัดเลือกนวัตกรรมสู่การนำไปใช้ในการจัดการศึกษา


นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน ตาม (1) ต้องประสานให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการจัดทำ สื่อการสอน จัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ พัฒนาบุคลากร จัดระบบการประเมินและวัดผล และการอื่น ที่จำเป็นสำหรับพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ไปปรับใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษานำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษานำร่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพใน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ทีมข่าว @ชายแดนใต้