“กำเนิดศาลเจ้าโป้ เจ้ เก็ง และสูตรยาโบราณ 104 สูตร ตามรอยอดีตที่ นครี สโตย”

0
1443

ชุมชนแรกเริ่มของชาวจีนในเมืองมำบังนคราตั้งอยู่ริมท่าเรือ ท่านี้เป็นท่าค้าขายถูกเรียกชื่อภายหลังว่าท่าเซ่งหิ้นช่วงที่กั่ว เซ่ง หิ้นเป็น “กปิตันจีนา” (Captain China =Kapitan Cina=หัวหน้าชาวจีน)ในสมัยพระยาภูมินารถภักดี เนื่องเพราะท่านตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าท่า, หลัง พ.ศ.2508 ถูกเรียกว่า”ท่าเหรียญทอง”ตามชื่อโรงแรมเหรียญทองที่เพิ่งสร้างใหม่ยามนั้น

ชุมชนจีนตั้งอยู่บนที่ดอนแคบๆท่ามกลางพื้นที่ชุ่มน้ำ บ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกปลูกสร้างด้วยไม้กลมฝาเป็นไม้ไผ่สานที่เรียกว่าฝาขัดแตะพื้นเป็นดินอัดเรียบแน่นหลังคามุงจาก เมื่อมีชุมชนจีนก็ต้องมีศาลเจ้าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ. เนื่องจากเวลานั้นสตูลเป็นเมืองเล็กๆไม่มีบริการทางการแพทย์ใดๆ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่มีหมอรักษา ชาวจีนจึงตั้งศาลเจ้าเพื่อบูชาเทพเจ้าที่เป็น”แพทย์”เพื่อช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของตน

โปเซ่งไต่เต่เป็นเทพที่เคยเป็นมนุษย์และเป็นแพทย์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เกิดในสมัยฮ่องเต้ซ่งไท่จงตายสมัยซ่งเจินจงแห่ง ราชวงศ์ซ่งเหนือ ( พ.ศ.1522- 1579 ) เป็นชาวเมืองจ่วนจิว มณฑลฝูเจี้ยน

เมื่อยังมีชีวิตอยู่โปเซ่งไต่เต่ได้ชื่อว่าเป็นหมอเทวดา มีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า “หงอเทา” ร่ำเรียนวิชาจับชีพจรและการรักษาวิชาแพทย์แผนจีนจากอาจารย์ซึ่งมีตำหรับยาจีนสืบต่อๆกันมานานนับร้อยปี ทำการรักษาผู้คนจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ ครั้งหนึ่งพระมารดาของฮ่องเต้ซ่งเจินจงประชวร ให้มหาดเล็กมาตามไปรักษาพระอาการ หงอเทาไม่สามารถจับชีพจรของพระราชชนนีได้ด้วยกฎมณเฑียรบาล จึงต้องใช้เส้นด้ายโยงจากมือคนไข้มายังมือของหมอ. ขันทีแกล้งโยงเส้นด้ายผูกกับขาโต๊ะเพื่อลองวิชาแต่หงอเทาก็รู้ ในที่สุดหมอหงอเทาสามารถรักษาจนพระอาการทุเลาลงทันที ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

หงอเทาเสียชีวิตในวัย 59 ปี ขณะปีนเขาไปเก็บตัวยาสมุนไพรต่างๆมาใช้รักษาผู้คน. ชาวบ้านจึงสร้างศาลไว้สักการะบูชา ต่อมาได้กลายเป็นตำนาน ผู้คนเชื่อว่าท่านจุติไปเป็นเทพมีนามว่า “หงอจินหยิน”และ”โปเซ่งไต่เต่” เพื่อโปรดสัตว์รักษาคนเจ็บไข้ให้หายป่วย

ชาวจีนจึงสร้างศาลเจ้าขนาดเล็กหลังคามุงจากตั้งอยู่ที่ท่าเซ่งหิ้น ตรงจุดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมเหรียญทองในปัจจุบัน ที่นี่มีตำหรับยาของหงอจินหยินที่สืบทอดมานานนับพันปีถึง 104 ตำหรับ. สำหรับรักษาโรคตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อใครไม่สบายจะมีผู้รู้วิชาแพทย์แผนจีนประจำศาลเจ้าคอยวินิจฉัยสั่งยาให้ตามตำหรับ ผู้ป่วยจะนำ “เทียบ” ยาที่ได้รับจากศาลเจ้า ไปหาตัวยาเอาเอง ซึ่งอาจเป็นพืชหรือส่วนประกอบสิ่งอื่นๆซึ่งนับว่ายุ่งยากพอควรกว่าจะหาได้ครบ

ต่อมาความนิยมหายาศาลเจ้าลดลงเพราะมีแพทย์แผนจีน ที่เปิดร้านมีสมุนไพรจำหน่ายพร้อมกับการรักษา คนไข้ไม่ต้องเสียเวลาไปหาตัวยาเอง ตัวตำหรับยาก็ใช้ตำหรับยาของศาลเจ้าไปจัดยาให้ลูกค้า ลูกค้าก็ได้รับความสะดวกแลกกับเงินไม่มากนัก

ปี 2457 เกิดไฟไหม้ใหญ่ในตลาดเมืองสตูล พระเพลิงเผาบ้านเรือนวอดไปถึง 82 หลังรวมทั้งศาลเจ้านี้ด้วย ชาวเมืองจึงร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าโปเซ่งไต่เต่ขึ้นใหม่ตรงบริเวณปากทางเข้าตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล ใกล้บริเวณซึ่งปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นถนนติระสถิตย์ตรงข้ามธนาคารกสิกรไทยสาขาสตูล ด้วยความกลัวเพลิงจึงสร้างด้วยวัสดุทันสมัยที่สุดในยามนั้นคือสังกะสี

ต่อมาเมื่อขุนพูนพานิชย้ายจากบ้านท่าจีนตำบลคลองขุดมาอยู่ในเมืองตามคำชักชวนของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ในช่วงปี 2468 ท่านได้เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของศาลเจ้า ดำเนินการย้ายศาลเจ้ามาตั้งในที่ปัจจุบัน และเป็นแม่งานสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ด้วยไม้เนื้อแข็งหลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วยพื้นคอนกรีตขัดมัน งดงามแบบเรียบๆตามอย่างศาลเจ้าขนาดเล็กในปีนัง

อาคารศาลเจ้าสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลังนี้ยืนยงเป็นที่พึ่งทางใจของชาวจีนมานานร่วมครึ่งศตวรรษ. ถูกรื้อสร้างใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง เป็นอาคารเดี่ยวที่ต่อปีกซ้ายเพื่อประดิษฐานเทพเจ้าเตาไฟและเทพชั้นรองอื่นๆ การบูรณะใหม่ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จสิ้นในปี 2512 ปัจจุบันเหลือชิ้นส่วนอาคารเก่าเพียงชิ้นเดียวคือเสาเอกต้นเดียวที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก แม่พิมพ์ตำหรับยาถูกปลวกกินไปเป็นจำนวนมาก. แต่ยังเหลือตัวแม่พิมพ์ที่แกะจากไม้กระดานให้ได้ศึกษาวิธีการพิมพ์ของคนโบราณอยู่จำนวนหนึ่ง

ตำหรับยา 104 สูตรของศาลเจ้าโป้เจ้เก็งได้รับการเก็บรักษาอย่างดี มีนักศึกษาแพทย์แผนจีนชาวสตูลท่านหนึ่งกำลังดำเนินการแปลสูตรยาเป็นภาษาไทยเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนยาให้ศาลเจ้า ผู้จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสตูลได้บรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนแม่บทฯเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกอันล้ำค่านี้ และเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยว อันจะสร้างรายได้ให้ชุมชนในอนาคตต่อไป

โดย ศมานนท์ พฤกษ์พิเนตร นักประวัติศาสตร์สตูล