ปิดถนนอดีตร้อยปีเขย่าเมือง Synergy ฤาดี : ปัตตานี ญี่ปุ่น ยุโรป เพื่อฟื้นฟูและรำลึกวิถีวัฒนธรรม การก่อเกิดประวัติศาสตร์สังคมพหุวัฒนธรรม

0
1212

เมื่อคืนวานนี้ ณ ถนนฤาดี อ. เมืองปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Synergy ฤาดี : ปัตตานี ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการ Pattani Heritage City ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดขึ้นที่ย่านตลาดเก่าตลาดจีน กือดาจีนอ ถนนวงแหวน 3 วัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อการแสดงถึงประวัติศาสตร์ รากเหง้า ความเป็นอยู่ของวิถีชีวิตในจังหวัดปัตตานี เป็นการฟื้นฟูจิตใจผู้คน ฟื้นใจเมือง ชาวปัตตานี คลี่คลายความหวาดระแวงอีกทั้งเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันที่ทำให้ประชาชนได้มาพบปะกันอีกครั้ง มาฟื้นฟู รำลึกถึงอดีตร่วมกัน


กิจกรรม Synergy ฤาดี : ปัตตานี-ญี่ปุ่น-ยุโรป ในโครงการ Pattani Heritage City ปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม มีกิจกรรมมากมาย โดยภายในงานมีเวที 2 ส่วน เวทีใหญ่จะมีการเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของถนนฤาดี เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี จนถึงการเป็นเมืองท่าค้าขายกับชาวโปรตุเกสและฮอลันดา นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงเพลงจากวงออเคสตร้า โดยนักเรียนจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี และยังมีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่าย “เรื่องเล่าจากถนนฤาดี”


. เวทีเล็ก มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “เรื่องเล่าจากถนนฤาดี” มีการสาธิตเผยแพร่วัฒนธรรมไทย – ญี่ปุ่น – โปรตุเกส อาทิสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยการพับกระดาษโอริกามิและการตัดกระดาษคิริกามิ, สัมผัสวัฒนธรรมอาหารไทย จากโปรตุเกสสู่ขนมไทย “ท้าวทองกีบม้า เจ้าตำรับอาหารไทย” เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มูลนิธิชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ คหบดีผู้มีคุณูปการต่อจังหวัดปัตตานี ในส่วนของการอยู่ร่วมกันของความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

นางจิตรา กุลาดี เจ้าของกิจการร้านผ้าผู้นับถือศาสนาซิกข์ชาวปัตตานี ซึ่งเป็นครอบครัวชาวซิกข์ 2 ครอบครัวในปัตตานีเท่านั้น เปิดเผยว่า ตนเองเกิดที่ปัตตานี เนื่องจากครอบครัวได้ย้ายรากฐานมาประกอบธุรกิจค้าขายผ้า อยู่ที่จังหวัดปัตตานี และเติบโตมาท่ามกลางผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และก็ทำธุรกิจค้าขายมาโดยตลอด ซึ่งลูกค้าในอดีต ระหว่างรอคอยสินค้า ก็มานั่งรอที่ร้าน กินกาแฟด้วยกันจนกลายเป็นความสนิทสนม เมื่อก่อนไม่มีการแบ่งแยกการเป็นพุทธ มุสลิม หรือศาสนาอื่นใด อยู่กันด้วยดีมาตลอด มาแค่ยุคปัจจุบัน ที่มีการคิดว่าตนเองศาสนาที่แตกต่างออกไป เริ่มสร้างวาทกรรมในเชิงลบบวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างความเกลียดชังกัน ซึ่ง ความจริงแล้ว ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มีจิตใจที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรัก ความสุข ความสงบ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเราจะยังคงสามารถกลับมาอยู่ดัวยกันอย่างมีความสุขร่วมกันได้
สมัยคุณพ่อ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาและมีต่างชาติต่างๆ เข้ามาเยอะ ซึ่งรู้จักกันง่าย รู้จักกันหมด เกื้อกูลกัน ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของปัตตานี และถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจจากเรื่องราวในอดีต มาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่งดงาม หลากหลายที่ลงตัว อยากให้ผู้คนมามีรอยยิ้มมาคุย มาสร้างบรรยากาศที่ดีดังก่อน ให้กลับคืนมา

ทีมข่าว@ชายแดนใต้ ปัตตานี