ปัตตานี – แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดค่ายพักพิงบำบัดยาเสพติด แค้มป์ 35 แก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

0
708

วันที่ 25 มิ.ย. 62 ที่ค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด Camp 35 ภายในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นประธานในพิธีเปิดค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด Camp 35 รุ่นที่ 2 ผู้ติดยาเสพติดเข้าร่วมบำบัดในครั้งนี้ จำนวน 250 คน

โดยค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด Camp 35 ถือเป็นกลยุทธ์ของทางภาครัฐที่เดินเข้าสู่หมู่บ้าน ให้ทุกอำเภอจัดตั้งชุดปฏิบัติการ ร่วมแก้ไขปัญหา ยาเสพติดประจำตำบล หรือเรียกว่า ชุด Take care team ทุกตำบล ทำหน้าที่ในการสำรวจ ค้นหา ผู้เสพ ผู้ค้า ยาเสพติด จัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และทำหน้าที่ในการติดตามช่วยเหลือ ผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด ที่กลับสู่ชุมชนและหมู่บ้าน จากทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ ไม่ให้กลับไป เสพซ้ำ

ด้านการบำบัดในระบบสมัครใจ โดยใช้เวลาในค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด จำนวน 35 วัน โดยเน้นในเรื่องของการถอนพิษยา การเสริมสมรรถภาพร่างกาย การให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด การสอนให้ปฏิเสธยาเสพติด และการสอนให้รู้จักพัฒนาชีวิตใหม่ควบคู่กับการสอนด้านศาสนา หลังจากจบหลักสูตร 35 วัน ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดชุดเพื่อติดตามผู้บำบัดอีก 90 วัน เพื่อช่วยเหลือผู้บำบัดไม่ให้กลับไปสู่วังวนยาเสพติดอีกครั้ง สำหรับการเปิดค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด camp 35 รุ่นที่ 2 มีผู้ติดยาเสพติดเข้าร่วมบำบัดในครั้งนี้ จำนวน 250 คน ซึ่งในรุ่นนี้เป็นผู้เข้ารับการบำบัดจาก 4 อำเภอของจังหวัดปัตตานี คือ อำเภอสายบุรี ยะหริ่ง มายอ และอำเภอปะนาเระ เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามหลักสูตรทางการแพทย์ จำนวน 35 วัน เป็นค่ายแรกของประเทศไทย “ปัตตานี โมเดล” จะเป็นต้นแบบของจังหวัดอื่นๆ หรือส่วนราชการ จะได้ศึกษาเรียนรู้ในโอกาสต่อไป


พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า นับตั้งแต่ได้ประกาศแผนปฏิบัติการ “รวมพลังแก้ไขปัญหายาเสพติด คืนความสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยเฉพาะมาตรการด้านการบำบัดรักษา กำหนดเป้าหมายนำผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดปัตตานีตามแนวทางการบำบัดรักษาและ แก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้ชื่อ “ปัตตานี โมเดล ” อย่างเป็นเอกภาพ ทั้งมาตรการด้านการป้องกัน ปราบปราม การบำบัดรักษา และการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดอย่างจริงจัง และเกิดผลเป็นรูปธรรม การแก้ปัญหายาเสพติดเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลัง ให้ปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความทับซ้อนกับปัญหาความมั่นคง ลดระดับความรุนแรง อันจะก่อให้เกิดความสงบสุข และสันติสุขที่ยั่งยืน กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทีมข่าว@ชายแดนใต้