เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ยื่นข้อเสนอความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้มาเลเซียในโอกาสเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่เป็นทางการ เป็นครั้งแรก
จากกรณีที่ พล.ต.อ.ตัน สรี อับดุล ราฮิม บินโมฮัมหมัด นูร์ หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย และคณะเดินทางเข้าพบปะหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยอย่างสันติวิธี สร้างกรอบความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อคืนสันติสุขให้กับประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะทุกฝ่ายต่างต้องการและเชื่อมั่นว่า “สันติภาพ และความสงบสุข เป็นความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่”
ทั้งนี้ คณะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศมาเลเซีย มีกำหนดปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและยะลาเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 62 โดยเข้ารับฟังสรุปสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้จากตัวแทนหน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคม พร้อมพูดคุยประเด็นการใช้กฎหมายอิสลามและการเรียนการสอนหลักสูตรอิสลามศึกษา ร่วมกับอาจารย์จากวิทยาลัยศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นอกจากนี้เข้าพบปะผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาในพื้นที่ และศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซียในการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนติดตามทำข่าว
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ทางด้านนายรักชาติ สุวรรณ รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยในเรื่องของการพูดคุยอยู่ในห้วงจังหวะของการหยุดชะงัก ภาคประชาสังคมหลายคนก็อยู่ในช่วงสูญญากาศเนื่องจากปัญหาทางการเมือง คิดว่าการพูดคุยน่าจะเริ่มขึ้นมาใหม่ได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประกอบกับวันสองวันที่ผ่านมาหัวหน้าพูดคุยสันติภาพของมาเลเซียมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่เป็นทางการทำให้เห็นว่าเริ่มมีการพูดคุยใหม่อีกครั้งหนึ่งแสดงให้เห็นถึงคนกลางผู้อำนวยความสะดวกสนใจที่จะให้มีการพูดคุย เป็นอีกความหวังหนึ่งของคนในพื้นที่ที่เริ่มมีการพูดคุย ตนคิดว่าน่าจะมีการพูดคุยกันนอกรอบก่อน ลักษณะของการตกลงกันก่อนว่าเดินไปแบบใหน แนวทางเป็นอย่างไรจำเป็นต้องตกลงกัน
นายรักชาติ เปิดเผยอีกว่าในส่วนของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ก็มีข้อเสนอจากองค์กรที่เป็นสมาชิกของสภา 13 องค์กรร่วมกันทำข้อเสนอ ได้เสนอไปยังพรรคการเมืองด้วยเพราะว่าอยากให้เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้วอยากให้พรรคการเมืองขยับเรื่องของการพูดคุยด้วยคิดว่าจะเสนอรัฐบาลด้วย แล้วข้อเสนอนี้ก็จะเสนอทีมพูดคุยของไทยและของมาราปัตตานี อาจจะเสนอไปยังมาเลเสียด้วย หลักๆของข้อเสนอประเด็นแรกก็คือความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินซึ่งคนในพื้นที่มีความต้องการในเรืองนี้ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ มุสลิม เรื่องที่สองก็คือเรื่องความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายภายในพื้นที่ อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันมากก็คือในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจถ้าพูดคุยยังไม่มีข้อยุติเศรษฐกิจก็คงจะแย่ลงเรื่อยๆเหตุการณ์ด้วยนักลงทุนก็ไม่กล้ามาลงทุนในพื้นที่
นายรักชาติ ยังเผยอีกว่าจากการที่ลงพื้นที่ ทำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ พี่น้องชาวไทยพุทธได้ตั้งความหวังไว้เยอะมากในเรื่องของการพูดคุย คิดว่าปัญหาภายในพื้นที่จะยุติลงได้ก็ด้วยการพูดคุย คงฝากไว้ทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายไทยและมาราปัตตานี การพูดคุยน่าจะดำเนินการไปได้และน่าจะมีผลคืบหน้าที่ตอบสนองคนในพื้นที่ได้ จึงฝากรัฐบาลใหม่เดินหน้าพูดคุยอย่าให้สะดุดเพื่อสันติสุขของคนในพื้นที่
ข่าว มูกะตา หะไร ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ.ยะลา
