เปิดแฟ้มภาพเก่า​ 60​ ปี ชาวปัตตานีแห่นก ถวายในหลวง ร.9

0
1963

   ชมรมอนุรักษ์ฟิลม์เก่าได้พบฟิล์มสำคัญ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนจังหวัดปัตตานี  ในวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2502 ในเวลา 09.15 น. เสด็จพระราชดำเนินยังศาลากลางจังหวัดปัตตานี ให้ประชาชนชาวจังหวัดปัตตานี ทั้งชาวไทยพุทธ เชื้อสายไทยและจีน ชาวไทยมุสลิมได้ร่วมใจกันจัดขบวนแห่คชสีห์ แห่นก และขบวนแห่ของชาวจีน เป็นการถวายพระพรและถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด

**  ประเพณีแห่นก   เป็นประเพณีพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นประเพณีที่แสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัด หรือที่เรียกว่า “มาโซะยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว

           จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกว่าเริ่มที่ยาวอ (ชวา) กล่าวคือ มีเจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอพระองค์หนึ่ง มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการเอาอกเอาใจทั้งจากพระบิดาและข้าราชบริพาร ต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่นมาบำเรอ ในจำนวนสิ่งเหล่านี้มีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วมีขบวนแห่แหนไปรอบ ๆ ลานพระที่นั่ง เป็นที่พอพระทัยของพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดฯ ให้มีการจัดแห่นกถวายทุก  7 วัน


อีกตำนานหนึ่งว่า ชาวประมงได้นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามา เล่าว่า พวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่างมหัศจรรย์ ผุดขึ้นมาจากท้องทะเลแล้วบินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปสู่ท้องฟ้า พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปร่างลักษณะของนกประหลาดตัวนั้น ต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันตามสายตาของแต่ละคน พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก ลูกชายคนสุดท้องก็รบเร้าจะใคร่ได้ชม พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำ บอกเล่าของชาวประมงซึ่งได้เห็นรูปที่แตกต่างกันนั้น ช่างทั้งหลายประดิษฐ์รูปนกขึ้นรวม 4 ลักษณะ คือ
1. นกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามการสันนิษฐานน่าจะเป็น “นกการเวก” เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ การประดิษฐ์มักจะตกแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็นสี่แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาดเวลาเข้าขบวนแห่ ทำเป็นกนกลวดลายสวยงามมาก มักนำไม้ทั้งท่อนมาแกะสลักตานก แล้วประดับด้วยลูกแก้วสี ทำให้กลอกกลิ่งได้ มีงายื่นออกมาจากปากคล้ายงาช้างเล็ก ๆ พอสมกับขนาดของนก

2. นกกรุดาหรือนกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑที่เห็นโดยทั่วไป

3. นกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะซูรอมาก การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น ต้องทำกันอย่างประณีตถี่ถ้วน และใช้เวลามาก

4. นกบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์ ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ และดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม
ในการประดิษฐ์นกนิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งไม่เปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง ทั้งยังทนทานใช้การได้นานปี สำหรับตัวนกจะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง ติดคานหาม แล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขน ประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันแลดูเด่นขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก​https://nicknick14000.wordpress.com/ประเพณี/ประเพณีแห่นก/ขอบคุณ​ภาพสแกนจากฟิล์มเก่า​