บุหงามาศ*ราชบรรณาการจากเมืองตานีโบราณ​สูงใหญ่แค่ไหน?

0
1660

โดย​ ekkaluk  max

หากศึกษาประวัติศาสตร์จะทราบดีว่า ในอดีตบรรดาหัวเมืองประเทศราชต่าง ๆ ในขอบขัณฑสีมาของสยามนั้น มีธรรมเนียมการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง (บ้างเรียกดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) ไปยังราชสำนักกรุงสยาม

เมืองตานีก็เป็นหนึ่งในประเทศราชที่ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มีรายละเอียดขนาดและส่วนประกอบของต้นไม้ทองที่เมืองตานีต้องจัดส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการปรากฎอยู่ในเอกสารของกรมพระกลาโหม ซึ่งเป็นเอกสารใน สมัยรัชกาลที่๕ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมืองปัตตานีต้องส่งต้นไม้ทอง ๑ ต้น สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว ๕ ชั้น ทั้งยอดมีกิ่ง ๕ ชั้นแต่ละชั้นมีรายละเอียดดังนี้ (กรมพระกลาโหม, จ.ศ. ๑๒๔๐: เล่ม ๒๑)

” ชั้นที่ ๑ มีกิ่ง ๔ กิ่ง มีกาบประจำต้นกิ่งละ ๒ กาบ กิ่งหนึ่งมี ๔ ก้าน มีดอกพุดตาลปลายกิ่งๆ ละ ๔ ดอก มีใบโพห้อยกิ่งละ ๑๐ ใบ มีใบประจำต้นก้านกิ่ง ๒ ใบ

ชั้นที่ ๒ มีกิ่ง ๔ กิ่งมีกาบประจำต้นกิ่งละ ๒ กาบ กิ่งหนึ่งมี ๔ ก้าน มีใบโพห้อยกิ่งละ ๙ ใบ มีใบประจำต้นก้านกิ่งละ ๒ ใบ

ชั้นที่ ๓ มีกิ่ง ๔ กิ่ง มีกาบประจำต้นกิ่งละ ๒ กาบ กิ่งหนึ่งมี ๔ ก้าน มีดอกพุดตาลปลายก้าน กิ่งละ ๔ ดอก ใบโพห้อยกิ่งละ ๘ ใบ มีใบประจำต้นก้านกิ่งละ ๒ ใบ

ชั้นที่ ๔ มีกิ่ง ๔ กิ่ง มีกาบประจำต้นกิ่งละ ๒ กาบ กิ่งหนึ่งมี ๔ ก้าน มีดอกพุดตาลปลายก้าน กิ่งละ ๔ ดอก ใบโพห้อยกิ่งละ ๘ ใบ มีใบประจำต้นก้านกิ่งละ ๒ ใบ

ชั้นที่ ๕ มีก้านขด ๔ ก้าน มีกาบประจำต้นก้านละ ๒ กาบ มีดอกพุดตาลปลายก้าน ๔ ดอก มีใบโพห้อยก้านละ ๕ ใบ ที่ยอดต้นไม้เงินไม้ทองแต่ละต้น มีก้านขด มีดอกพุดตาน ๔ กลีบ มีนกจับปลายยอดตัวหนึ่ง ๑๐ นิ้ว มีฐานทำด้วยไม้สูง ๑๐ นิ้ว ”

ทั้งนี้เมื่อลองคำนวณความสูงของต้นไม้ทองตามข้อมูลในรายงานนี้ที่ว่า “สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว” เมื่อเทียบเป็นหน่วยวัดอย่างสากล** ต้นไม้ทองนี้มีความสูงโดยประมาณ 1.43 เมตร (ประมาณคร่าวๆ เลขกลมๆ = 1.50 ม.)

แต่เมื่อรวมกับฐานไม้เข้าไปด้วยซึ่งมีความสูง ๑๐นิ้ว (25 เซนติเมตร) ต้นไม้ทองนี้จะมีความสูงรวมฐานทั้งสิ้น 1.68 เซนติเมตร

ทั้งนี้ขนาดของต้นไม้เงินทองที่ต้องส่งขึ้นมายังกรุงเทพนั้นจะมีขนาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง ขึ้นกับจำนวนพลเมือง และรายได้ของเมืองนั้น ๆ

หมายเหตุ

*บุหงามาศ เป็นการเขียนเทียบตามคำเรียกในภาษามลายูว่า Bunga Mas ซึ่งแปลว่าดอกไม้ทอง ทั้งนี้คำว่า มาศ ที่แปลว่าทอง ก็มีใช้ในภาษาไทยด้วยเช่นกัน

**เป็นค่าโดยประมาณ
๑ ศอก = 50 เซนติเมตร
๑ คืบ = 25 เซนติเมตร
๑ นิ้ว = 2.5 เซนติเมตร
(ที่มาหน่วยใช้เทียบ: https://th.wikipedia.org/wiki/หน่วยไทย…)

ที่มา:
ข้อมูลข้างต้นอ้างอยู่ใน จุรีรัตน์ บัวแก้ว(๒๕๔๑) เมืองปัตตานีในอดีต. วารสารรูสะมิแล ปีที่ ๑๙ ฉบับที่๒, พ.ค. – ส.ค. ๒๕๔๑. หน้า 23.

เอกสารต้นฉบับ
กลาโหม, กรมพระ “เอกสารรัชกาลที่ ๕ เครื่องราชบรรณาการหัวเมืองทั้ง ๗ ” กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เล่มที่ ๒๑. ลงวันพุธ แรม๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ จ.ศ.๑๒๔๐

ภาพประกอบเป็นต้นไม้ทองจำลอง จาก Muzium Negara, Kuala Lumpur, Malaysia / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย