ม.สงขลานครินทร์​ นำเสนอสื่อ​ ชมศักยภาพวิชาการของวิทยาเขตภูเก็ต  “เครือข่ายประชาสัมพันธ์สงขลานครินทร์ # 2​ ” เน้นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนชาวอันดามัน​

0
405

     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดโครงการเครือข่ายประชาสัมพันธ์สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 2 เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เข้าสัมผัสกับบรรยากาศกิจกรรม และได้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัย ในทุกวิทยาเขต โดยในปีนี้จัดโครงการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2562 โดยมีสื่อมวลชนจากภาคใต้ ส่วนกลาง ภาคเหนือ รวม 31 สำนัก และประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขต เข้าร่วมรวม จำนวน 58 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว
เปิดโครงการว่า ในการเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้ สื่อมวลชนจะได้ชมผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการ และสัมผัสกับบรรยากาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งมีการเรียนการสอน ที่เน้นสนองการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทำให้มีหลายสาขาวิชาที่มีความโดดเด่น และต่างจากวิทยาเขตอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญการพัฒนามหาวิทยาลัยในทุกวิทยาเขตจะไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การสร้างความรู้และนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนสังคมโดยมีการวิจัยเป็นฐาน สร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะทางวิชาการและวิชาชีพในระดับสากล และพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมฐานความรู้บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรม และหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการวิจัยนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ และด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้วางแผนเอาไว้ในรอบการทำงานช่วงปี 2561-2565

          รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า วิทยาเขตภูเก็ตมีที่ตั้งที่เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นวิทยาเขตนานาชาติที่สมบูรณ์แบบ​  ด้วยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้ง​เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก และนโยบายของรัฐที่จะขับเคลื่อนภูเก็ต ให้เป็น Smart City ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในเชิงพื้นที่ แม้จะเป็นวิทยาเขตขนาดเล็กแต่ขับเคลื่อน ภายใต้หลักการ “จิ๋วแต่แจ๋ว” เพื่อมุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการบริการและการท่องเที่ยวของเอเชีย มีความโดดเด่นด้านภาษาและวัฒนธรรมของไทยและอาเซียน เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

        ทั้งนี้ สื่อมวลชนได้เข้าชมนิทรรศการ และผลงานเด่นของคณะต่างๆ​ และหน่วยงานในวิทยาเขตภูเก็ต เช่น ผลการศึกษาผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต, โมเดลการเงินเพื่อขออนุมัติสินเชื่อสำหรับ Boutique hotel การวิจัยเพื่อบริหารการจัดการน้ำ, การวิจัยเพื่อบริหารการจัดการชายหาด, การแต่งงานข้ามชาติระหว่างชายเยอรมันกับหญิงไทย : การปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรม วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟในภาคใต้ จากยุคโกปี๊เตี่ยมสู่อาหารเชิงศิลป์, บทบาทของหน่วยงานภาครัฐต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยังยืนในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน, กรณีศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต การธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของศาสนาพุทธนิกายมหายานในมิติศาลเจ้าจีน, กรณีศึกษา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, โครงการเส้นทางเดินรถสาธารณะภูเก็ต (รถโพถ้อง) เกมแบบเล่นตามบทบาทสำหรับข้อสอบปรนัย และเกมวิ่งไปคิดไป และการแสดงเครื่องดนตรีกู่เจิง การเขียนพู่กันจีน และการวาดภาพจีน​และอื่นๆ

  อีกทั้งคณะสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเครื่องบินจำลอง PSU Terminal ห้องปฏิบัติการครัว Kitchen Lab ห้องอาหาร The Campus และศูนย์ปฏิบัติการโรงแรม PSU Lodge