เมื่อ16.00น.ของ วันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ ห้องกลางชล รร.ซีเอสปัตตานี กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมเครือข่ายชาวพุทธทั้งภายในและภายนอกพื้นที่กว่า 11 กลุ่ม ภายใต้การริเริ่มและสนับสนุนทางด้านวิชาการและการสร้างเครือข่ายจากคณาจารย์ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามทำงานวิจัยในพื้นที่ชายแดนใต้มากว่า 15 ปี ได้จัดการประชุมหารือเพื่อการทำงานของกลุ่มอย่างมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นในการขับเคลื่อนสันติภาพโดยมุ่งเน้นที่การนำเอาพลังของพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพมาเป็นวัฒนธรรมหลักของกลุ่ม
และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของภาคประชาชนโดยไม่เลือกศาสนาและชาติพันธุ์ด้วยความเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จะสำเร็จลงได้ก็ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือที่ทางกลุ่มเรียกว่า “ปาร์ตี้ซี (Party C)” ซึ่งหมายถึง Civilians หรือ ประชาชนพลเมืองในพื้นที่ที่ไม่ได้แยกว่านับถือศาสนาใด ซึ่งการริเริ่มโครงการดังกล่าวนี้ก็มาจากการริเริ่มของพระครูโฆษิตสุตาภรณ์ หรือ พระมหาเจรียง เจ้าอาวาสวัดบวรวรวิหาร อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี สมาชิกกลุ่มถักทอสันติภาพ และ รศ.ดร.โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหืดล ให้ความสำคัญและร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในรูปของงานวิจัยซึ่งได้นำมาเปิดตัวในวันดังกล่าวในชื่อ “ความรู้สึกและข้อเสนอของชาวพุทธต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข”
ที่มาของหนังสือเล่มดังกล่าวมาจากการที่กลุ่มถักทอสันติภาพได้ติดตามการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มเมื่อ 4 ปีก่อนและพบว่าในกระบวนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสียงของชาวพุทธดูเหมือนจะขาดหายไป จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเสียงความรู้สึก ความต้องการ และ ความหวัง ของชาวพุทธในรูปของงานวิจัย โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และนำมาวิเคราะห์จนได้สรุปเป็นรายงานวิจัยที่ต้องการจะเสนอให้ทั้ง Party A และ Party B ตลอดจนสังคมไทยได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างตรงประเด็นโดยไม่ละเลยเสียงของชาวพุทธในพื้นที่ด้วย ดังนี้
ชาวพุทธรู้สึกภาคภูมิใจในศาสนาพุทธที่ตนนับถือและภูมิใจในความเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้และภูมิใจที่เคยอยู่ร่วมกับมุสลิมฉันพี่น้องมีการไปมาหาสู่กันอย่างมีความสุข แต่มาภายหลัง หลายครั้งที่ความภาคภูมิใจของชาวพุทธถูกลดทอนด้วยความกลัว ความโกรธ ความเสียใจอันเนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และโดยเฉพาะเมื่อมีการสูญเสียคนในครอบครัวและญาติมิตรไปกับเหตุการณ์ความรุนแรง และความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในพื้นที่เปลี่ยนไป ซึ่งชาวพุทธอยากให้ความสัมพันธ์กลับมาดีเหมือนเมื่อก่อน รวมทั้งไม่ต้องการให้มีการใชเงื่อนไขความต่างทางศาสนามาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายกัน
ชาวพุทธต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องการให้มีความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกันด้วยความเท่าเทียมของทุกศาสนา ต้องการการเดินทางอย่างสะดวกปลอดภัย ตลอดจน ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจการประกอบอาชีพ การดำรงชีพ ความมั่นคงทางชีวิต ไม่ต้องการถูกขับไล่ออกนอกพื้นที่ หรือแยกที่อยู่ แยกพื้นที่ทำมาหากิน
ด้วยเหตุที่ชาวพุทธมีความรู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ และตกอยู่ในความทุกข์มาเป็นเวลายาวนาน มุมมองต่อสถานการณ์จึงมักเป็นในทางลบ หรือเป็นการมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) และอยากมีข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อดำเนินการได้เลยโดยไม่รอการพูดคุย เช่น การทำความเข้าใจกับประชาชนทุกกลุ่มรวมทั้งให้ความสำคัญแก่ชาวพุทธมากขึ้น การติดตามคนผิดมาลงโทษ การให้ความเป็นธรรม ในขณะเดียวกันก็หวังให้ฝ่ายรัฐบาลพูดคุยแบบสุจริต โปร่งใส จริงจัง มีความต่อเนื่อง เตรียมตัวให้ดีรวมทั้งมีการรับฟังปัญหาท้องถิ่น ก่อนการพูดคุย กระนั้น ก็มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งไม่มากนักที่ฝากความหวังให้กระบวนการพูดคุยประสบความสำเร็จได้ด้วยดี
ชาวพุทธต้องการให้ในโต้ะเจรจาพูดคุยสันติสุข ทั้ง 2 ฝ่ายคือฝ่ายปาร์ตี้ เอ นั้น 1) ขอให้มีความจริงใจในการพูดคุยเพื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 2) ขอให้กระบวนการพูดคุยมีความโปร่งใส 3) ข้อมูลต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย
ส่วนข้อเสนอ ต่อฝ่ายปาร์ตี้ บี หรือ มารา ปาตานี และกลุ่ม BRN หรือกลุ่มที่ยังใช้ความรุนแรง กลุ่มอื่น ๆ ทุกกลุ่ม คือ 1) ไม่ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน 2) ไม่ใช้ประเด็นศาสนามาสร้างความแตกแยก 3) ให้พื้นที่ของชาวไทยพุทธ และ 4) ขอให้รับฟังเสียงและเข้าใจจุดยืนของชาวไทยพุทธ
สำหรับความหวังในอนาคตนั้น ชาวพุทธต้องการให้ทุกภาคส่วนมองเห็นความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายในการแก้ปัญหา
ในการเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ รศ.ดร.โคทม อารียา ได้ขยายความว่า “ในทัศนะของชาวพุทธ การพุดคุยระหว่างฝ่ายรัฐและมาราปาตานีควรเน้นในเรื่องความปลอดภัย การส่งเสริมอาชีพ การศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง อยากให้คุยกันเรื่องความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม และมีจำนวนหนึ่งไม่มากนักที่กล่าวถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เห็นต่างที่กลับใจ หรือกล่าวถึงการปกครองอันเป็นประชาธิปไตย” นอกจากนี้ ชาวพุทธยังมีข้อเสนอต่อฝ่ายมาราปาตานีโดยตรง เช่น ขอให้ยุติความรุนแรง หยุดการฆ่า และหยุดทำร้ายคนพุทธ หยุดการขับไล่ชาวพุทธออกจากพื้นที่ ไม่ใช้ประเด็นศาสนามาสร้างความแตกแยก และมีข้อเสนอที่เกี่ยวกับการพูดคุย เช่น ขอให้ทุกกลุ่มเข้ามาร่วมเจรจา ขอให้ระบุตัวตนและความต้องการให้ชัด ขอให้เคารพคู่เจรจา และทำงานร่วมกันอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา จนได้ข้อสรุปที่ดีต่อทั้งสองฝ่าย และขอให้นำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติด้วย
สำหรับความหวังและการมองภาพอนาคตที่พึงปรารถนา นั่นคือ สังคมที่สันติ สงบสุข ทุกคนปลอดภัย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนกันด้วยความเคารพ เป็นสังคมที่เจริญ คนกลับมาท่องเที่ยวในพื้นที่ และมีการไปมาหาสู่กันเหมือนแต่ก่อน ในการทำให้ภาพอนาคตของสันติสังคมเป็นจริง ชาวพุทธจำนวนมากคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน ชาวพุทธ ชาวมุสลิม ที่จะร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายนี้
ติดตาม รายละเอียดเต็มที่: https://www.facebook.com/chaidantainews/videos/658841487889888/
สุกรี มะดากะกุล บก.@ชายแดนใต้
