มารู้จัก​ “หลวงพิธานอำนวยกิจ​(จันฮกซุ่น)” ​

0
2036

พิธานพาณิชย์​ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่มากๆในภาคใต้ รู้จักกันว่าประกอบธุรกิจด้านรถยนต์​ ห้างสรรพสินค้า​ และอื่นๆ
– รถจักรยานยนต์ฮอนด้า พิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ มีประมาณ 52 สาขาใน 5 จังหวัด
– รถยนต์ฮอนด้า อริยะมอเตอร์
– รถยนต์โตโยต้า พิธานพาณิชย์
– รถยนต์อิซูซุส​ มอเตอร์
– ศูนย์การค้าไดอาน่า คอมเพล็กซ์
จุดเริ่มต้น​ บ.พิธาน​จำกัด​ มาจาก​บุคคลที่ชื่อ
หลวงพิธานอำนวยกิจ มีนามว่า ฮกซุ่น แซ่จัน คนทั่วไปนิยมเรียกว่า จันฮกซุ่น เกิดที่ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 พ.ศ. 2440 บิดาชื่อกิมกวย แซ่จัน เดินทางมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน มาอยู่ที่เมืองสาย (สายบุรี) เปิดร้านขายของชื่อว่า ร้าน “จันซุ่นฮวด” ที่เมืองสาย​ อ.สายบุรี

     จันฮกซุ่น เรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนประชาบาล และเรียนหนังสือจีนควบคู่ไปด้วย เมื่ออายุได้ 18 ปี  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เปิดร้านค้าเป็นของตนเองชื่อร้าน “จันซุ่นเซ่ง” ที่เมืองนราธิวาส จำหน่ายน้ำมันก๊าดตรามงกุฎ ผลิตภัณฑ์ของน้ำมันเชลล์ตราหอยที่เกาะปีนัง เมื่อมีอายุได้ 19​ ปี จันกิมกวยผู้บิดาได้ถึงแก่กรรม จันฮกซุ่นจึงต้องรับภาระเลี้ยงดูมารดาและน้องๆ ทุกคน

     กิจการค้าของจันฮกซุ่นเจริญก้าวหน้า จึงได้รับมอบหมายเป็นเอเย่นต์ของบริษัทเอเซียติค เปโทรเลี่ยม จำกัด ที่ปัตตานี โดยใช้ชื่อร้านที่ปัตตานีว่า “ร้านจันเอ็กเซ่ง” จึงได้ชวนลูกพี่ลูกน้องจากเมืองจีน ชื่อนายฮักเลี่ยม แซ่โหง่ว ภายหลังเปลี่ยนเป็น “โกวิทยา” มาช่วยกิจการ ต่อมาได้รับความเชื่อถือจากบริษัทใหญ่ของยุโรปและอเมริกาให้เป็นตัวแทนขายสินค้าต่างๆ อาทิ บริษัทเนสเล่ บริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต บริษัทขายน้ำอัดลม บริษัทยางรถยนต์ ฯลฯ

     เมื่อกิจการการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทต่างๆ เจริญก้าวหน้าดีแล้ว จันฮกซุ่นก็ได้หาซื้อที่ดินเพื่อปลูกยางพาราเสริมอีกทางหนึ่ง ต่อมาได้ขยายร้านค้าไปที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ชื่อร้าน “จันเต็งเซ่ง” ในปี พ.ศ. 2473  เริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบุหรี่ที่ปัตตานีและนราธิวาส เมื่อฐานะมั่นคง จันฮกซุ่นจึงเริ่มช่วยสาธารณกุศล สร้างวัด สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ในลักษณะร่วมสร้างหรือบริจาคให้ตามแต่สมควร

     ดังนั้น ใน พ.ศ.2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “หลวงพิธานอำนวยกิจ”

     ใน พ.ศ. 2479 หลวงพิธานอำนวยกิจได้ขยายร้านไปเปิดที่จังหวัดยะลา ชื่อร้าน “จันเอ็กเซ่ง” ครั้น พ.ศ. 2482​ หลวงพิธานอำนวยกิจได้รวบรวมร้านค้าต่างๆ ของตนจดทะเบียนเป็นบริษัทชื่อ “บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด” เมื่อวันที่ 5​ มกราคม พ.ศ. 2482 พ.ศ. 2488 ได้เปิดสาขาบริษัทพิธานที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

     หลวงพิธานฯ เป็นต้นสกุล จันทรัศมี เอาจากแซ่ “จัน” มาตั้งเป็นนามสกุลแบบไทย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 5 คน คือมีพี่สาว 1 คน น้องชาย 2 คน และน้องสาว 2 คน

     หลวงพิธานฯ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 แต่กิจการของบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด มิได้หยุดตามผู้ริเริ่มกิจการ ลูกหลานของหลวงพิธานอำนวยกิจ (อาทิ นายเนตร จันทรัศมี เจ้าของศูนย์การค้าไดอาน่า สาขาปัตตานีและสาขาหาดใหญ่) ยังคงขยายกิจการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งอีกหลายจังหวัดรวมที่กรุงเทพฯ ด้วย นับเป็นบุคคลหนึ่งที่ทำให้การค้าขายในปัตตานีเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่แล้วมานั้น ในคืนวันเพ็ญท้องฟ้าโปร่งใสเต็มไปด้วยดาวระยิบระยับเคลื่นลมสงบเงียบเรือสำเภาลำหนึ่ง  นำสินค้าต่าง ๆ เข้าสู่ร้าน  “จันซุ่นฮวด”  ที่เมืองสายบุรีท่าเรือเล็ก ๆ ในมณฑลปัตตานี ไต้ก๋งเรือนั้นไม่ใช่ใครอื่น คือ เถ้าแก่จันกิมกวยเจ้าของร้าน “จันซุ่นฮวด” นั่นเอง  และท่านผู้นี้คือ  บิดาของเถ้าแก่  จันฮกซุ่น หรือ  หลวงพิธานอำนวยกิจ  ผู้ให้กำเนิด บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด

2457เถ้าแก่จันฮกซุ่น ทายาทสืบสายโลหิตของเถ้าแก่จันกิมกวย ผู้กำลังหนุ่มฉกรรจ์ อยู่ในอายุ 18 ปี ตัดสินใจแยกไปเสี่ยงโชคแต่ผู้เดียว โดยลงทุนเปิดร้าน “จันซุ่นเซ่ง” ที่เมืองนราธิวาส เพื่อจำหน่ายน้ำมันก๊าด  “ตรามงกุฎ”  ผลิตภัณฑ์ของบริษัทน้ำมันเชลล์ ตราหอยเกาะปีนัง

2462
กิจการค้าขายของเถ้าแก่จันฮกซุ่นได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ มา เป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่พ่อค้าวาณิชย์ในภาคใต้  ต่อมาเมื่อผู้แทนของบริษัทน้ำมันเชลล์ตราหอยชักชวนให้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันก๊าด “ตรามุงกุฎ” ขึ้นที่มณฑลปัตตานี เถ้าแก่จันฮกซุ่นก็ตอบตกลงทันที และได้ลงทุนเปิดร้าน “จันเอ็กเซ่ง” ที่เมืองปัตตานี โดยมอบหมายให้ คุณฮกเหลี่ยม  แซ่โหง่ว น้องเขยเป็นผู้จัดการดูแลร้านค้า

2467
ด้วยความมานะ หนักเอาเบาสู้และความอดทน กิจการขายน้ำมันก๊าด “ตรามงกุฎ” ก็ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างดี จนบริษัทน้ำมันเชลล์ ตราหอย เชื่อมั่นว่า เถ้าแก่จันฮกซุ่นเป็นผู้มีความสามารถในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เชลล์  จึงได้แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่าย  น้ำมันเบนซินและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตราหอยชนิดอื่น ๆ  ด้วย

2473
เพื่อขยายกิจการค้าขายให้กว้างออกไปอีก เถ้าแก่จันฮกซุ่นก็ได้เปิดร้าน “จันเต็งเซ่ง” เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ในเมืองสุไหงโก-ลก ในปีนี้ บริษัท บริติชออเมริกันโตแบ็คโก จำกัด (บี.เอ.ที.) ได้ให้ความไว้วางใจแต่งตั้งให้เถ้าแก่จันฮกซุ่น เป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่ ในเมืองปัตตานี และ เมืองนราธิวาส  และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา

2474
กิจการร้านค้าต่าง ๆ ที่เถ้าแก่จันฮกซุ่นได้เปิดขึ้นนั้น  ได้เจริญรุ่งเรืองและขยายตลาดออกไป เถ้าแก่จันฮกซุ่น  ยังสละเวลา ทรัพย์ กำลังกาย และกำลังใจ ทำบุญกุศล บริจาคเงินสร้างวัดวาอาราม โรงเรียน และโรงพยาบาล เพื่อสาธารณะประโยชน์ ของส่วนร่วม ในท้องถิ่นของตน และสร้างสมความเจริญ ให้แก่บ้านเมือง  โดยพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งให้  เถ้าแก่จันฮกซุ่นขณะนั้นมีอายุ  35 ปี เป็น หลวงพิธานอำนวยกิจ นักธุรกิจบุคคลแรกที่รับยศเป็น  คุณหลวง  ในท้องถิ่นนั้น นับว่าเป็นเกียรติอันสูงส่งของวงศ์ตระกูล “จันทรัศมี”

2479
คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ รู้สึกว่ากิจการค้าขายน้ำมันเบนซินและผลิตภัณฑ์น้ำมันตราหอย เกี่ยวโยงกับรถยนต์บรรทุกและโดยสาร  จึงได้ขอเจรจาเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์นั่งและบรรทุกยี่ห้อ  เชฟโรเล็ท ของบริษัท เยนเนรัล มอเตอร์ จำกัด แห่งสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จในปีนั้น  ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2480
คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ ได้ทุ่มผลกำไรจากการค้าขาย ลงไปด้วยการเปิดร้าน “จันเอ็กเซ่ง”ขึ้นอีกแห่งที่เมืองยะลา

2482
คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ เชื่อว่า ร้านค้าที่ได้เปิดขึ้นไว้หลายแห่งนั้น  ยากในการที่จะควบคุมบริหารและวางแผน จึงตัดสินใจรวบรวมกิจการเข้าเป็นรูปบริษัท  โดยจดทะเบียนเป็น  บริษัท พิธานพาณิชย์  จำกัด  เมื่อวันที่ 5 มกราคม  ปีนั้น  และแต่งตั้งผู้จัดการประจำสาขาต่าง ๆ ในปีเดียวกัน คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ มองเห็นการณ์ไกลว่า  ยางพาราเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทยและมีอนาคตดีจึงทุ่มเทกำลังสร้างสวนยาง  1,800 ไร่ ที่อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส  และที่อื่น ๆ  เช่น อำเภอตันหยงมัส  (อำเภอระแงะ)  และอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดนราธิวาส

2485
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนได้พากันอพยพไปอยู่ในชนบทเพื่อหนีภัยสงคราม  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  ซึ่งเคยเป็นเมืองคึกคักกลับเงียบเหงาลง  พ่อค้าวาณิชย์ต่างก็พากันละทิ้งกิจการค้าขายหนีออกจากอำเภอหาดใหญ่ แต่คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ  เล็งเห็นว่า  อำเภอหาดใหญ่จะเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคใต้ในอนาคต  ในด้านเศรษฐกิจตลาดการเงิน  ชุมทางรถไฟ  รถยนต์  จึงตัดสินใจซื้อ ที่ดิน อาคารร้านค้า เพื่อเตรียมขยายธุรกิจ

2488
คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ ได้เปิดสาขาหาดใหญ่ขึ้นอีกแห่ง การเปิดสาขาหาดใหญ่ขึ้นนั้น เสมือนหนึ่งเป็นบันไดที่บริษัท  จะขยายกิจการค้าขายไปทางภาคกลาง  และเข้าสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคต  และเนื่องจากถนนหนทางในจังหวัดภาคใต้ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การคมนาคมระหว่าง ตำบล อำเภอ และจังหวัดสะดวกขึ้นมาก  คุณวิเชียร   โกวิทยา  มั่นใจว่า  ยานพาหนะที่ราคาถูกและสามารถเชื่อมหมู่บ้านหนึ่งกับอีกหมู่บ้านหนึ่งอย่างทันใจ  ก็มีแต่รถจักรยานยนต์เท่านั้น   คุณวิเชียร   โกวิทยา  จึงได้ติดต่อกับโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ฮอนด้า  และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าใน  4  จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดสงขลา  โดยสาขาหาดใหญ่เป็นศูนย์ประกอบและแจกจ่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า  นับตั้งแต่นั้นมากิจการรถจักรยานยนต์ฮอนด้าก็เจริญขึ้นตามเศรษฐกิจของภาคใต้ที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

2497
คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ  สิ้นบุญเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ครอบครัวญาติมิตร  และพนักงานทุกคนรู้สึกโศรกเคร้าอย่างสุดซึ้งในการจากไปอย่างไม่มีวันกลับมาของคุณหลวงพิธานอำนวยกิจ  ถึงแม้ว่า คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ  จะจากไป  อุดมคติและนโยบายการค้าที่คุณหลวงพิธานอำนวยกิจ  ได้วางรากฐานไว้  ยังดำรงอยู่กับคณะกรรมการบริหาร  ซึ่งประกอบด้วย  คุณฮักเลี่ยม   แซ่โหง่ว (น้องเขย)  คุณบัณฑิต  จันทรัศมี  (บุตรชายคนโต) คุณประวิช  เลาหะกุล (บุตรเขยคนโต)  และคุณวิเชียร  โกวิทยา (บุตรเขยคนที่สอง)  ซึ่งแต่งงานกับคุณสุจิตรา จันทรัศมี
ข้อมูล​ www.​pithan.co.th.​ Obout history